“การศึกษาต้องไม่เป็นทุกข์ของแผ่นดิน” รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิต ธรรมศาสตร์

“การศึกษาต้องไม่เป็นทุกข์ของแผ่นดิน” รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิต ธรรมศาสตร์

  • มากกว่าการเปลี่ยนชื่อวิชา เนื้อหา หลักสูตร ออกแบบกฎระเบียบโรงเรียนเอง หลักใหญ่ใจความที่ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ทำทั้งหมดนี้คือ สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี
  • เราทุกคนรู้ดีว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วและเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน การสร้างโมเดลการเรียนรู้ใหม่จึงจำเป็น รอดไม่รอดไม่รู้ แต่เรารู้แล้วว่าโมเดลเก่าพาสังคมล้มเหลว “เราไม่ทำ”
  • การศึกษาต้องไม่เป็นทุกข์ของแผ่นดิน นี่คือหลักการการทำโรงเรียนของ ‘อ.อ้อ’ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

มากกว่าการเปลี่ยนชื่อวิชา เนื้อหา หรือหลักสูตร หลักใหญ่ใจความของ ‘อ.อ้อ’ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี

“การศึกษาคือความทุกข์ของแผ่นดิน ใครที่ผ่านระบบการศึกษาหรือใครที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีความทุกข์ทั้งสิ้นในรูปแบบต่างๆ กัน ผู้เรียนเองซึ่งเป็นปลายน้ำที่สุดก็ทุกข์หนัก เด็กไม่อยากมาโรงเรียน การเรียนหนังสือเป็นเรื่องขมขื่นทรมานที่สุดในชีวิต พ่อแม่ ครู ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ รัฐมนตรี หรือผู้ประกอบการที่จะรับเด็กเองก็เป็นทุกข์หมด แปลว่าต้องรับผิดชอบทั้งสังคม เมื่อเราพูดถึงคำว่าการทำโรงเรียนจึงไม่ใช่การสอนหนังสือแต่มันเป็นการพูดถึงการปั้นระบบนิเวศหนึ่งอันขึ้นมา”

การหยิบเอาวิธีการ กระบวนการ มาตีความต่างๆ แล้วถอดสมการออกมาว่าบิดเบือนหรือเคลื่อนไปจากความดีงาม นั่นอาจไม่ต่างจากการเสพเพียงเปลือกแล้วเดินจากไป ไม่ได้ทำอะไรนอกจากทิ้งปัญหาไว้ข้างหลัง

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะเห็น pain point มาหลายสิบปีอย่าง อ.อนุชาติ กลับมาเพาะเมล็ดพันธุ์อีกครั้ง กับ โรงเรียน ครู พ่อแม่ และเด็กๆ

“ต้องเปลี่ยนจากมุมที่เล็กที่สุด เราไม่รู้หรอกว่าเด็กจะรอดหรือไม่รอด แต่เราเชื่อว่าถ้าเราใส่ภูมิคุ้มกันให้มากเท่าไหร่มันจะไปได้เยอะเท่านั้น เราเชื่อว่าถ้าเราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัวลึกเท่าไหร่มันก็จะยิ่งคงทนเท่านั้น แล้วมันจะไปปรับตัวเองในสังคมวงกว้าง”

มากไปกว่านั้น เราทุกคนรู้ดีว่าโลกมันเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน จำเป็นต้องสร้างโมเดลการเรียนรู้ใหม่

“เราไม่รู้ว่าโมเดลใหม่มันไปรอดหรือไม่รอดนะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าโมเดลเก่าพาสังคมล้มเหลว เราไม่ทำ”

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้อาจารย์กลับมาทำโรงเรียน

เราปลุกปั้นโรงเรียนขึ้นมาพร้อมคณะ (วิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พอคณะอยู่ตัวแล้วอธิการบดี (รศ.เกศินี วิฑูรชาติ) อยากให้เราเข้ามาช่วยในส่วนของโรงเรียนเป็นการเฉพาะ ที่คณะเองก็มีทีมบริหารใหม่มาดูแลแทน เราก็ควรถอดหัวโขนและไม่เข้าไปควบคุมเขา ให้พื้นที่เขาทำงานอย่างเต็มที่ ที่สำคัญโรงเรียนยังต้องการความเชี่ยวชาญของเราบางส่วนมาช่วยเติมเต็ม ช่วยประคองน้องๆ ที่ยังเข้มแข็งไม่เต็มที่ ส่วนเราเองก็อยากจะบุกเบิกอยู่แล้ว มันก็เป็นอารมณ์นั้น ไม่ถึงกับว่า “ชีวิตนี้ฉันมุ่งมั่นมากที่จะมาตรงนี้” หรือ “ฉันมุ่งมั่นอยากจะมาทำโรงเรียนนะ” ไม่ใช่หรอก คล้ายๆ ว่าชะตาชีวิตพาไป ดังนั้น โจทย์ชีวิตจึงไม่ใช่การกลับมาทำโรงเรียนหรอก

เราแก่มากพอที่จะรู้ pain point ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เหตุผลหลักที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เป็นเพราะระบบการบริหารจัดการยังขาดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ไม่มีวัฒนธรรมองค์กรที่มี empathy ต่อกัน ไม่มีความเป็นทีมอย่างแท้จริง ทุกคนอยู่ภายใต้กรอบของปรัชญาการแข่งขันหมด ทุกคนต้องเจอกับ ranking ของมหา’ลัย แล้วก็มาสู่ ranking ตัวเอง ฉันจะขอตำแหน่งทางวิชาการนู่นนี่นั่น แต่สิ่งที่เราทำจะขัดแย้งกับความคาดหวังของสังคม เราพยายามให้เกิดการทำงานเป็นทีม เราจะพยายาม drive หรือผลักดันการทำงานวิจัยที่ขับเคลื่อนสังคม ซึ่งงานเหล่านี้ไม่ถูกจดจำ มองเห็นหรือเติบโตทางวิชาการเลย

เลยทำโรงเรียนในความหมายใหม่?

มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนป้ายข้างหน้าแล้วก็ทำเหมือนเดิม แต่เรา Re หมด เปลี่ยนวัฒนธรรมของการทำงานของโรงเรียนให้วางอยู่ในขนบเดียวกัน อยู่ใต้ปรัชญาใหญ่ของคณะฯ คือ “ร่วมสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน”

สังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกันของอาจารย์มีความหมายอย่างไร 

เรามองเห็นความแตกต่างทางความคิดและอื่นๆ ของผู้คนมากมาย แต่อยู่ร่วมกันไม่ค่อยได้ เราเชื่อว่า ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติให้ได้ การจะทำเช่นนั้น เราจะต้องเรียนรู้ที่จะพูดคุย ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เราจึงจะร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้

ตั้งแต่วันแรกที่เราปั้นหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น การเป็นโรงเรียนสาธิตถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราสามารถออกแบบหลักสูตรของเราเองได้เนื่องจากโรงเรียนสาธิตไม่ต้องใช้หลักสูตร สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เราจะเป็นโรงเรียนคนไทยที่ผลิตหลักสูตรโดยคนไทยเพื่อคนไทย แต่มีมาตรฐานที่จะสู้กับโรงเรียนนานาชาติได้

เราไปศึกษาดูหลักสูตรมาหมด ทั้งฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ เราตัดสินใจร่างหลักสูตรของเราเอง แล้วทำอย่างที่เราอยากทำ จากนั้นเริ่มรับสมัครครู โดยคัดเลือกคนที่มีคุณภาพบางอย่างที่เรารู้สึกว่าใช่ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปกับเรา

ตอนนี้โรงเรียนมีครูอยู่หกสิบกว่าคน ทุกคนต้องมารีเทรนเรื่องการสอนเด็กใหม่ทั้งหมด วิธีการสอนแบบเดิมต้องถูกสลัดทิ้งแล้วต้องตั้งหลักใหม่ได้กับทุกคน

โดยกระบวนการคัดเลือกครู เราแทบจะไม่มีการสอบกระดาษหรือมีก็จะเป็นแบบ take home เราจึงพัฒนาวิธีการคัดเลือกที่หลากหลาย ดูการทำกระบวนการกลุ่ม เล่นเกม ทำ workshop กันตั้งแต่เช้าถึงเย็น ดูพฤติกรรมแล้วจึงสัมภาษณ์ และสอบสอน เพื่อให้เรามั่นใจว่าคนนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า

ครูอยู่สถานะไหนในโรงเรียน

ที่โรงเรียนครูยังคุยกันเลยว่าจะให้เด็กยกมือไหว้เราไหม กลุ่มหนึ่งบอกไม่ต้องยกมือไหว้ เจอกันก็ทักกัน แต่ในมุมผม เด็กมีสัมมาคารวะพอสมควร เดินสวนกันก็ทักทาย แต่ไม่ได้พินอบพิเทา จะมีความเป็นตัวของเอง สนิทกับเรา มีอะไรเขาก็จะพูดด้วย พูดในสไตล์ของเขาด้วยนะ ซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจจะขัดหูขัดตาอยู่บ้าง แต่ไม่มีอะไรที่เกินเลย

หลักสูตรเป็นอย่างไร

เราร่างหลักสูตรกันบนความฝัน เราเต็มที่ ไม่ใช้รายวิชาของ สพฐ. ทั้งหมด แต่ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้หลักการไม่ใช่ทฤษฎี แต่เน้นการเกิดประสบการณ์ตรง

ที่นี่ไม่ใส่เครื่องแบบ ไม่สนใจเรื่องทรงผมแต่เราต้องคุยกันก่อนนะว่าทำไมเด็กไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ต้องตั้งคำถามกันเองเพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าใจตรงกันไหม นั่นเพราะเราไม่เชื่อว่าการแต่งเครื่องแบบคือคำตอบ เราไม่ใช้เครื่องแบบ เรามีเสื้อยืดตราโรงเรียน 2 ตัวใส่เฉพาะวันอังคารและศุกร์ที่มีตลาดนัด เพื่อแยกแยะเด็กของเรากับคนภายนอก เนื่องจากโรงเรียนไม่มีขอบรั้วที่มิดชิด นอกจากนั้น ก็ใส่ในวันที่มีพิธีการหรือออกนอกสถานที่ดูงาน

เราไม่มีวิชาลูกเสือเนตรนารี เราไม่สอนวิชาชื่อพระพุทธศาสนา เด็กไม่ต้องมายืนเคารพธงชาติตอนเช้า ไม่มีสวดมนต์ตอนเช้า แต่เรามีคำตอบในการอธิบายสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด

เราจะสร้างเด็กแบบไหน เราจะใช้อะไรมาเป็นกติกาในการออกแบบความมีระเบียบวินัยให้เด็กซื้อหรือบายอินกับเรา ยกตัวอย่าง แทนที่จะยืนอบรมหน้าเสาธง สวดมนต์ตอนเช้า เรามีชั่วโมงโฮมรูมที่เราให้คุณค่าและความสำคัญกับ 30 นาทีของทุกวัน นี่จะถือเป็นนาทีทองที่เด็กๆ ในแต่ละห้องจะมาพบกับครูประจำชั้น 2 คน นอกจากจะเป็นการสื่อข้อมูลข่าวสารของทางโรงเรียน ครูประจำชั้นจะพาเด็กคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หรือทำกิจกรรมเล็กๆ ปรับจูนสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเรียนคาบที่ 1 ส่วนการสวดมนต์นั้นก็สามารถฝึกฝนทำได้อยู่แล้วในคาบเรียนวิถีศรัทธา

เราไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม เด็กมัธยมที่นี่ประมาณ 30% ย้อมสีผม จะย้อมสีอะไรก็ปล่อยเขา การแต่งตัวก็มีบ้างที่เกินพอดี เช่น ใส่กางเกงขาสั้นเกินก็ให้ครูกับเด็กเขาคุยกันเองว่าอันนี้คือสิ่งที่คุณครูไม่สบายใจนะ อิสระแค่ไหนก็ตาม มันสามารถอยู่ได้ด้วยการที่เด็กต้องรู้สึกว่าเขาดูแลตัวเองได้ รู้จักรักษาความสะอาด

มีวิธีที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมแบบ “อิสระแต่เขาควบคุมตัวเอง” ในโรงเรียนได้อย่างไรบ้าง

เราคิดว่าการให้อิสระกับสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ เพราะเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง เขาจะค้นหาไปเรื่อย เรามีหน้าที่คอยประคับประคอง ชี้ข้อดีข้อเสียให้กับเขา

เราเปลี่ยนลูกเสือเนตรนารีเป็นวิชาอยู่รอดปลอดภัย รื้อเนื้อหาใหม่หมด ไม่มีถักเชือกเงื่อนปมแต่ซ้อมหนีไฟให้เป็น เวลาไฟไหม้ ดับไฟเป็นไหม ปฐมพยาบาลให้เป็น ว่ายน้ำเราก็จะไม่มุ่งเรื่องกีฬาเพื่อความเป็นเลิศแต่เอาเรื่องพัฒนาการทางด้านร่างกายก่อน วิชาว่ายน้ำของเด็ก ม.1 เทอม 1 พอหนึ่งเทอมผ่านไปครูพละจะต้องตอบโจทย์ว่า ถ้าเด็กตกน้ำ เด็กต้องรอดหรือจะดีขึ้นไปอีกถ้าสามารถช่วยคนอื่นได้ด้วย เอาแค่นี้ ไม่ต้องมาผีเสื้อกับผม ส่วนเทอมต่อๆ ไปก็ค่อยพัฒนากันต่อ ที่นี่เรามีนักกีฬาระดับแข่งขันหลายคนเหมือนกันนะ

นอกจากนี้ เราพบว่าการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนมันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ยิ่งสอนยิ่งทำให้เด็กเก็บกด เราจึงเปลี่ยนเป็นวิชาวัยรุ่นศาสตร์ 1-6 วัยรุ่นศาสตร์ 1 สำหรับเด็ก ม.1 เรียนเรื่อง Anatomy ให้รู้จักร่างกายตัวเอง ทำความสะอาด ฮอร์โมน เห็นตัวเองว่าเริ่มเติบโตยังไง ร่างกายเปลี่ยนแปลงยังไง เช่น ขนาดของอวัยวะเพศ หรือ ประจำเดือน เด็กจะได้รู้จักตัวเอง เคารพตัวเอง รู้ว่าตอนนี้ขุ่นมัว อารมณ์ไม่แจ่มใสเพราะอะไร เป็นต้น

วัยรุ่นศาสตร์ 2 ให้รู้จักพัฒนาการด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว สังคม มันก็จะขยับเป็นพัฒนาการตามความเป็นวัยรุ่นของเขา พอเราวางเส้นทางแนวนี้ให้ ครูก็ไปออกแบบการสอนเอาเอง ครูจะสอนแม้กระทั่งเด็กผู้ชายจะต้องเลือกซื้อกางเกงในแบบไหน เลือกผ้าที่ใส่แล้วสบาย ผู้หญิงจะใส่เสื้อชั้นในอย่างไร ฯลฯ เรื่องแบบนี้จะถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ อันนี้เรียกว่ารื้อสร้างหลักสูตรใหม่

ที่นี่จะไม่มีฝ่ายปกครอง แต่มีฝ่ายสนับสนุนนักเรียนและกิจกรรม ถามว่าสนับสนุนอย่างไร นักเรียนตีกัน ทะเลาะกันหรือทิ้งขยะเกลื่อนโรงเรียน ฝ่ายสนับสนุนฯ จะมีหน้าที่คอยดูแลปัญหาเรื่องพฤติกรรมทั้งหลาย เช่น เด็กๆ กินน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กินตรงไหนแก้วน้ำก็วางอยู่ตรงนั้น เลยเกิดขยะเต็มโรงเรียน มันก็จะง่ายมากถ้าประกาศว่าต่อไปนี้เด็กๆ ห้ามทิ้งขยะ ให้เพื่อนหัวหน้าห้องจดชื่อรายงานครูเลย แต่เราเปลี่ยนวิธีการหมด ปล่อยไปแล้วบอกแม่บ้าน “ไม่เก็บ ให้ทิ้งไว้” ภายใน 1 อาทิตย์ขยะมันก็สะสม แล้วครูก็ไปถ่ายรูปโพสต์ลง Facebook พิมพ์ว่าทำไมโรงเรียนเราสกปรกจัง จนเด็กๆ บอกครูเองว่า “มาช่วยกันเถอะ” แล้วตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสของเราที่จะชวนกันคุยต่อว่า เราจะช่วยกันทำอย่างไรดี ถ้าเราอยากเห็นโรงเรียนของเราสะอาด ไม่รู้ระยะยาวจะเป็นยังไงนะ แต่ว่าถึงที่สุดมันมีชมรมสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากเรื่องเล็กๆ แบบนี้

เราเชื่อว่าการปลูกฝังวินัย จิตสำนึกที่ดี น่าจะทำอย่างไรให้เขาเกิดความตระหนักอย่างแท้จริง ในฐานะครู เรามีหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ ต้องอดทนรอคอย ประคับประคองเส้นทาง เชื่อว่าผลลัพธ์จากกระบวนการเช่นนี้น่าจะยั่งยืนกว่าการบังคับสั่ง

อีกอย่างหนึ่งที่เราปลดล็อกหลักสูตร คือ โรงเรียนเราไม่ออกเกรด และบอกพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่าโรงเรียนนี้จะไม่สนับสนุนเรื่องการแข่งขันใดๆ ลืมไปเลยการติดป้ายหน้าโรงเรียนว่าเด็กคนนี้ประกวดอะไร ชนะเลิศอะไรมา หรือเป็นนักกีฬาดีเด่น พ่อแม่ที่มีลูกเป็นนักกีฬาได้ถ้วยแล้วเอามาให้โรงเรียน เราไม่เอา

อยากให้ลูกเรียนเสริมอะไร กีฬา ศิลปะ หรือวิชาการเราไม่ห้าม เพราะทักษะบางอย่างโรงเรียนก็จัดให้ไม่ได้ ทว่าเราไม่สนับสนุนให้โรงเรียนพาไปเอง เราไม่สนับสนุนให้พ่อแม่จ่ายเงินเพิ่มเพื่อพาลูกไปติววิชาการ เราเชื่อว่าสาระความรู้ที่อยู่ในหลักสูตรน่าจะเพียงพอแล้ว

การไม่ออกเกรดและสร้างบรรยากาศแบบนี้ทำให้มันลดการแข่งขันได้จริงไหม

ผ่านไป 3-4 ปี เสียงสะท้อนจากครูพบเลยว่าเด็กของเราไม่มีเซนส์ของการแข่งขันในเชิงชิงดีชิงเด่นกัน แต่จะรู้ว่าคนนี้เก่งเรื่องนี้ คนนั้นทำหนังสือการ์ตูนได้ คนนี้เป็นนักเขียน คนโน้นเป็นนักอ่าน คนนั้นเก่งฟิสิกส์ เด็กๆ เขาจะรู้ว่าใครเก่งอะไร ทางใครทางมัน ตรงนี้มันต้องผ่านหลายๆ ส่วน ทั้งในเชิงการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน การไม่ออกเกรด การให้ทำงานเป็นทีม ให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในที่สุดก็ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดว่าเด็กที่นี่ไม่รู้สึกว่าใครเก่งกว่าใครในมุมไหน รู้ว่าเพื่อนคนนี้ทำเรื่องนี้ได้ดี แต่เราก็มีของดีแบบนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

แต่การทำโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนมันไม่ใช่แค่องค์ประกอบนี้ สิ่งเหล่านี้เราออกแบบไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว และเราก็ทำแบบมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ เราให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี

ผมพูดอยู่บ่อยๆ ว่า “การศึกษาคือความทุกข์ของแผ่นดิน” ใครที่ผ่านระบบการศึกษาหรือใครที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีความทุกข์ทั้งสิ้นในรูปแบบต่างกัน ผู้เรียนเองซึ่งเป็นปลายน้ำที่สุดก็ทุกข์หนัก เด็กไม่อยากมาโรงเรียน การเรียนหนังสือเป็นเรื่องขมขื่นทรมานที่สุดในชีวิต

พ่อแม่ ครู ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ รัฐมนตรี หรือผู้ประกอบการที่จะรับเด็กเองก็เป็นทุกข์หมด แปลว่าต้องรับผิดชอบทั้งสังคม เมื่อเราพูดถึงคำว่าการทำโรงเรียน จึงไม่ใช่การสอนหนังสือแต่มันเป็นการพูดถึงการปั้นระบบนิเวศหนึ่งอันขึ้นมา

ทีนี้มันจะทำได้ยังไง อย่างหลักสูตรก็อย่างที่เล่าไป ซึ่งต้องวางหลักการ วางแนวทางที่ดีมากๆ แต่ตอนนี้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคใหญ่ในพัฒนาโรงเรียนคือความทุกข์ที่เกิดจากความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างพ่อแม่กับโรงเรียน ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นกับแทบทุกโรงเรียน ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนขาดคุณภาพก็เยอะ ขณะที่พ่อแม่จ่ายเงินส่งลูกแล้วหวังว่าลูกเดินผ่านประตูรั้วโรงเรียนแล้วลูกจะกลายเป็นคนแบบที่ตนเองคาดหวัง อย่างนี้ก็มีมาก ซึ่งผมก็บอกว่ามาทำอย่างนี้กับเราไม่ได้นะพ่อแม่ที่รัก อย่ามากดดันเรา เรารู้สึกว่าการทำงานร่วมกับพ่อแม่เป็นหัวใจสำคัญมากๆ ที่จะทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นของระบบการศึกษามันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งระบบอำนาจนิยม ระบบราชการ หรือการปรับตัวของระบบที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ความคาดหวัง และความคิดทางการเมือง ฯลฯ

สิ่งที่เป็นผลพวงของความทุกข์นี้คือมันพลัดพรากทุกคนออกจากกัน ในอดีตการไปเรียนที่วัดมันก็จะมีสองสามปาร์ตี้ที่เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ที่ระบบเป็นการศึกษาสมัยใหม่มันพลัดพราก connection ระหว่างกันและกันหมด การพลัดพรากทั้งองคาพยพ มันนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ ความกดดัน ความคาดหวังที่ฝากแก่กันและกัน

สิ่งที่เราจะทำคือการรื้อความสัมพันธ์ที่ดีกลับคืนมา อย่างน้อยๆ ระหว่างครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง ดึงสามปาร์ตี้เข้าด้วยกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โจทย์อันแรกที่พูดไปคือการคัดเลือกครู ตอนนี้เราแก้โจทย์ได้แล้วส่วนหนึ่งเพราะครูโรงเรียนนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ วัยไม่ต่างกับนักเรียนพอเราพลิกวิธีการสอน เปลี่ยนวิธีการใดๆ ปุ๊บ ห้องเรียนก็ฟูทันที ไม่ต้องทำอะไรเยอะ ให้อิสระเด็ก ให้อิสระครู ให้พื้นที่ แล้วก็สร้างกติกา พอครูกับเด็ก connect กันได้ ครูกับเด็กก็โอเคกันทั้งการสอน บรรยากาศ และความสัมพันธ์

พอเปิดเรียนมา เราพบว่าโจทย์ครูกับเด็กมันคลี่คลายได้เยอะ พ่อแม่ก็จะเริ่มมารายงานกับโรงเรียน ลูกไม่เคยเด้งตัวจากที่นอนตอนเช้าเพื่อจะมาโรงเรียนให้ทันมาก่อน หรือถ้าพ่อแม่มาส่งไม่ทันจะรู้สึกว่าหงุดหงิด กลับไปก็มีเรื่องเล่า นี่เป็นตัวบ่งชี้เล็กๆ ว่ามันประสบความสำเร็จในเชิงความสัมพันธ์ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าอันนี้เป็นหัวใจที่ใหญ่มาก แต่ว่าได้ใจเด็กละ ต่อไปเราจะทำอย่างไรที่จะขยายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันนี้ให้กว้างออกไปอีก ไปถึงครอบครัว ไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง

แล้วความสัมพันธ์ของเด็กและผู้ปกครอง จะเชื่อมกันได้อย่างไร

สิ่งที่เราวางแผนไว้กับระบบใหญ่กับพ่อแม่แล้วคือ หนึ่งเรารับสมัครเด็กค่อนข้างเร็ว เปิดเทอมเดือนมิถุนายน ตอนนี้ (กุมภาพันธ์) เราคัดเลือกเด็กได้ครบหมดแล้ว อีก 2 เดือนจะมีโครงการที่เรียกว่า “ครอบครัวสาธิต” โดยจะเอาเด็กมาเข้าร่วม 2 เดือนเต็มๆ และให้พ่อแม่มาเข้าหลักสูตรที่เรียกว่า “ห้องเรียนพ่อแม่”

ช่วงแรกๆ ของห้องเรียนพ่อแม่ เราเติมความเข้าใจมุมมอง เอาเรื่องการเลี้ยงลูก การสื่อสารกับลูก การวางใจลูก ฯลฯ เพราะเราพอจะมองเห็นว่าความทุกข์ของพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยนี้คืออะไรบ้าง สื่อสารกับลูกแล้วไม่รู้เรื่อง เริ่มไม่เข้าใจว่าทำไมลูกตีตัวออกห่างตัวเอง เห็นความสำคัญของเพื่อนมากกว่า ลูกติดเกมทำยังไงดี หรือคุยกับลูกเรื่องเพศสัมพันธ์ไม่ได้ ลูกเก็บตัวอยู่ในห้อง นั่นคือพฤติกรรมเปลี่ยน เราก็ต้องมาช่วยจัดวิธีคิดของพ่อแม่ว่า หนึ่ง ต้องเข้าใจเขานะว่าวัยนี้ฮอร์โมนเขาเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แล้วมันเป็นธรรมชาติของเขาที่จะตีห่างอยู่แล้ว มันเป็นธรรมชาติของเขาที่จะเบื่อเสียงบ่น แต่ทั้งหมดทั้งปวง ความกดดันอยู่ในวัยที่เขากำลังแสวงหาอัตลักษณ์ เขาอยากจะปั้นตัวเขา แต่การปั้น มันต้องปั้นบนพื้นฐานของความไว้วางใจ เป็นห่วงได้แต่อยู่ห่างๆ หน่อย ห่วงแบบห่างๆ นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะทำงานกับพ่อแม่พอสมควร

ที่ผ่านมาเราค่อนข้างจะโชคดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเรา ให้ความร่วมมือดีมาก ให้ความไว้วางใจ พร้อมที่ปรับเปลี่ยน อดทนกับความไม่สมบูรณ์ของโรงเรียน ทำให้เราเดินหน้าไปได้ดีทีเดียว

ปีนี้เราไฮไลต์เรื่องการทำงานกับพ่อแม่ที่เข้มข้นขึ้นอีก สิ่งที่เราทำตอนนี้คือศูนย์ Empathy Center เป็นคลินิกให้พ่อแม่ ครู และเด็กเข้ามาปรึกษา ซึ่งเราคิดว่าอันนี้มันก็อาจจะช่วยหรือไม่ช่วยโรงเรียน แต่อย่างน้อยมันช่วยสังคม เพราะการที่พ่อแม่คู่หนึ่งหรือครอบครัวหนึ่งครอบครัว เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีคิดต่อลูก ต่อตัวเอง ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวของตนเอง มันก็มีคุณค่าแล้ว ไม่ต้องให้เขาเข้าใจเรื่องการศึกษาใดๆ แต่ให้เข้าใจชีวิต ประคองครอบครัวให้เป็น

อีกหนึ่งโครงการคือ ชุมชนการเรียนรู้ TSS Family อันนี้ก็จะเป็นการออกแบบห้องเรียนพ่อแม่ครบวงจร เช่น พ่อแม่ที่ว่างหลังส่งลูกไปโรงเรียนก็มาเข้าห้องเรียนกัน อยากจะทำขนมปังหรือสอนเรื่องทำธุรกิจก็มาออกแบบการเรียนรู้กัน เราจึงหวังว่า การทำกิจกรรมร่วมกัน ที่มีการออกแบบ มีกระบวนการที่ดี มีการถอดบทเรียนเพื่อยกระดับการเรียนรู้ จะนำพาให้ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศแห่งนี้มีคุณค่าต่อการเติบโตของเด็กๆ

ทำไมต้อง empathy พ่อแม่

เพราะว่าพ่อแม่คือหัวใจสำคัญที่สุด พ่อแม่อยู่กับเด็กสองเท่าของโรงเรียน ด้วยความที่ผมจะอยู่ในห้องไลน์กับพ่อแม่แต่ละรุ่น เด็ก 150 คน พ่อแม่ 300 คนบางทีมีปู่ย่าตายาย ข้อความเด้งทั้งวัน การอยู่ในห้องไลน์พ่อแม่ต้องใช้พลังงาน เราจะเห็นความทุกข์ ความคาดหวัง ความคลาดเคลื่อน อารมณ์ ความสัมพันธ์ มากมาย เราจึงคิดว่า การขยายหัวใจของความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน จะมีความจำเป็นและสำคัญมาก เราคงไม่อาจแก้ปัญหาให้หมดไปได้หรอก โรงเรียนเองก็มีด้านที่ต้องพัฒนา ต้องสื่อสารมากมาย พ่อแม่เองก็มีข้อจำกัด มีเงื่อนไขชีวิตต่างกันไป ทั้งหมดนี้ เป็นเสมือนภาพจำลองของสังคมจริง ดังนั้น การวางใจซึ่งกันและกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข จะเป็นพลังพื้นฐานที่จะช่วยนำพาให้ทุกคนไปรอดร่วมกัน

อะไรคือหลักการหรือแนวคิดเบื้องหลัง การ connect หรือเชื่อมกันทั้งหมดในโรงเรียน

หนึ่ง ระบบของโรงเรียนเราไม่ออกเกรด ในเทอมเทอมหนึ่ง พ่อ แม่ ลูก กับคุณครูประจำชั้น 4 คนจะต้องมานั่งอยู่ด้วยกันครึ่งชั่วโมงเพื่อจะดูว่าผลการเรียนของเด็กเป็นยังไง คุณครูก็จะรายงานว่า การเรียนชีววิทยา ฟิสิกส์ ภาษาไทย วรรณกรรม ผลการเรียนออกมาเป็นไง ไม่ใช่บอกเกรด เช่น พัฒนาการยังไม่ค่อยดี ยังไปได้อีกเยอะ เด็กๆ คิดว่าตัวเองอยากจะพัฒนาอะไรเพิ่มขึ้นไหม หรือว่าคิดว่าตัวเองทำอะไรได้ดีหรือไม่ดีเพราะอะไร แล้วจะทำไงต่อก็บอก

สอง ครอบครัวสาธิต สร้างความสัมพันธ์ภายในระหว่างครูด้วยกัน ระหว่างผู้ปกครองกันเองด้วย อันนี้ก็จะช่วยเยอะนะครับ

สาม พ่อแม่ส่วนใหญ่ อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียน ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการ connect เพราะเขาต้องการใครบางคนที่ฝากลูกไว้ได้ ต้องการรู้จักครูและผู้บริหารทุกคน มันก็คือหน้าต่างบานแรกที่เราจะเชื่อมเขาเข้ามา ทุกครั้งที่มีปฐมนิเทศ เราก็จะเชิญวิทยากรที่น่าสนใจมาพูด เปลี่ยนพลังงานของผู้ปกครองให้เป็นพลังงานบวก และส่งต่อความรู้และพลังงานดีๆ เหล่านี้ไปสู่ภายนอก

ทำไมอาจารย์ถึงเป็นผู้บริหารที่อยู่ในกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง

พูดง่ายที่สุด เขาคือลูกค้า เขาคือเป้าหมายที่เราจะชวนสร้างการเปลี่ยนแปลง เราอยากเปลี่ยนเขาเป็นพลังบวกในการไปขับเคลื่อนต่อ เพราะเราไม่ได้ต้องการทำโรงเรียนสาธิตเพื่อจะปั้นอะไรเป็นแนวดิ่งเป็นเลิศ แต่เราต้องการค้นหาวิธีการสร้างนวัตกรรมบางอย่างเพื่อเอาไปใช้กับที่อื่นๆ ฉะนั้น connection ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองจึงสำคัญ ความเข้าใจผู้ปกครองสามารถเป็นกระบอกเสียงในทัศนะบางอย่างที่มีต่อโรงเรียน อันนี้สำคัญมากเพราะฉะนั้นเราจึงอยู่ในห้องนี้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังทำได้ไม่ค่อยดีนะ การเขียนสื่อสารในไลน์มันมีข้อจำกัด

พ่อแม่รุ่นแรกๆ จะเป็นรุ่นที่เรา connect เยอะ รู้จักหมดทุกแม่ เราเรียกแม่ทุกแม่ พ่อก็ด้วย มีนัดเจอกัน มี personal connection ในระดับหนึ่ง

สภาพแวดล้อมในกลุ่มไลน์เป็นอย่างไรบ้าง

อันหนึ่งที่เราทำคือบทความอะไร หรือสัมภาษณ์ใครที่ว่าดีเรื่องบทบาทพ่อแม่ มุมมองการเลี้ยงลูก เราเอามาโพสต์ลงไปในกลุ่มให้เขาอ่าน เปิดผ่านก็ยังดี ไม่ต้องสวัสดีตอนเช้า อ่านพวกนี้ดีกว่า ซึ่งเขาก็จะปรับตัวนะ

ล่าสุดเรื่องวัคซีน เรารู้ละเดี๋ยวดราม่าแน่นอน เรารู้เห็นจากโรงเรียนอื่น บางโรงเรียนพ่อแม่ทะเลาะกัน ลูกฉันฉีดวัคซีนแล้วจะไปโรงเรียน ลูกคนที่ไม่ฉีดวัคซีนไม่ให้มาโรงเรียน พ่อแม่บางคนก็กดดันไม่ให้ลูกบ้านที่ยังไม่ฉีดวัคซีนมาโรงเรียน เดี๋ยวเอามาติดที่โรงเรียน เราพอรู้ปัญหาล่วงหน้าจากที่อื่นๆ เลยเสนอทางเลือกให้ก่อน เราก็ไปหาทั้งวัคซีนตายและวัคซีนเป็นมา กลัวมากก็ฉีดเชื้อตาย กลัวน้อยก็เชื้อเป็น

สองก็คือพยายามสื่อสารว่าทางโรงเรียนเรา คนที่ไม่ฉีดไม่เป็นไรนะ เราเข้าใจว่าบางคนมีเหตุผลด้านสุขภาพ เช่น ที่ผ่านมาแพ้วัคซีนบางชนิด กลัว เราต้องเข้าใจกันนะ อย่าไปว่าเด็ก มันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะได้รับการเรียนรู้ เราต้องให้ความเคารพ พอเราพูดอย่างนี้ในกลุ่มไลน์ เรื่องก็จะไม่ยาว

บรรยากาศที่โรงเรียน คุณครูจะไม่มีการถามเด็กว่าคนไหนฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนนะ แต่เราเก็บข้อมูล เราคิดว่าเป้าหมายสำคัญคือการที่เด็กทุกคนจะต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แล้วเราเชื่อว่าเรามีมาตรการเชิงสาธารณสุขที่ดีเพียงพอแล้ว ขณะเดียวกันเราจะทำงานในเชิงวิธีคิดกับเด็กๆ ด้วยว่าไม่ต้องถามกันนะว่าใครฉีดหรือยัง “เพราะคำถามนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์” นั่นแปลว่าถ้าใครจะถาม คือถามคำถามที่ไม่มีประโยชน์นะ (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้

โชคดี นักเรียนของเรากว่า 95% สมัครใจฉีดวัคซีน

เมื่อครู่ที่บอกว่า กระบวนการคัดเลือกเด็กเสร็จแล้ว อยากทราบว่ามีกระบวนการคัดเด็กอย่างไร

เรามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จากบทเรียนในปีก่อนๆ ณ ปัจจุบัน 100 คะแนนของการเข้าเรียน พ่อแม่มีส่วน 30%

หนึ่งคือเราเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกใหม่หมด ยกเลิกการสอบที่เป็นเปเปอร์ การมานั่ง Sit in exam 100% เราไม่เอาเลย

สอง เด็กทุกคนจะต้องทำ portfolio ของตัวเองเข้ามา เด็กทุกคนจะลองทำเส้นทางชีวิตที่ตัวเองรู้สึกว่าชอบ อยากจะเป็น เช่น อยากจะเต้น Cover Dance เป็นความฝันเหรอลูก แล้วลูกทำความฝันให้เป็นจริงได้ยังไง เราให้เด็กเขียน ให้รู้ว่าความฝันจะไม่อยู่ข้างบนนั้นแต่จะลงมือทำจริงๆ นะ ลองแสดงมาให้ดูว่าทำอะไรกันมา อย่างไรบ้าง

สามคือ มีคำถามให้เด็กตอบ 3 ข้อให้เขาตอบเรื่องชีวิตเขา ส่วนพ่อแม่มี 4 ข้อ แล้วพาเด็กมาทำกระบวนการให้เห็นว่าตรงกับที่เขียนไหม

แต่สิ่งที่พูดมาทั้งหมดก็ยังไม่บรรลุเรื่องการสร้างระบบนิเวศในมุมพ่อแม่สักทีเดียว เพราะถ้าไปให้สุดกว่านี้ ใจของเรา เราอยากเห็นเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นการรวมตัวกันของพ่อแม่ที่สนใจเรื่องการขับเคลื่อนการศึกษาที่มากไปกว่าโรงเรียนของลูก อยากเห็นพ่อแม่ที่มองเห็นสิ่งที่ดี ที่มีประโยชน์ หลักการ หรือแนวคิดอะไรที่ดี ไปช่วยเหลือเกื้อกูลกับผู้ปกครองในโรงเรียนอื่นๆ หรือทำงานเพื่อสนับสนุนเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสในมุมกว้างขึ้น

อีกอย่าง ทางโรงเรียน เราไม่ทำเรื่องรับบริจาคเพื่อเข้าเรียนเลย เราไม่มีค่าแรกเข้า ไม่มีแป๊ะเจี๊ยะ ไม่เก็บค่าโน่นนี่ระหว่างทาง ดังนั้น ความสัมพันธ์ของเรากับพ่อแม่ผู้ปกครองจึงเป็นความสบายใจ 

สำหรับอาจารย์ พลังผู้ปกครองสำคัญอย่างไร

เรายังไปไม่ถึงจุดที่พลังผู้ปกครองจะเป็นพลังที่ไป connect กับสังคมที่อยู่ เรากำลังทำให้ “ตัวผู้ปกครองต้องเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม” ก็เริ่มหวังว่า Empathy Center จะเป็นตัว connect ตัวหนึ่งในอนาคต

ที่ผ่านมา เรายกพื้นที่ให้ผู้ปกครองฟรีเป็นห้อง 1 ห้อง ใครใคร่ขาย ขาย เขาก็ทำกล้วยบวชชีมา ทำข้าวขาหมูมา ขนมปัง น้ำส้ม สารพัด เขาก็เอามาแลกกัน เด็กก็ได้กิน พ่อแม่ก็ซื้อกันเอง เปลี่ยนพลังงานเขาให้มาเป็นการทำอะไรร่วมกันอย่างเป็นระบบ เติมความรู้ความเข้าใจหรืออย่างน้อยเติมสกิลผู้ปกครองในเชิงธุรกิจกันเอง จะเกิดชมรมท่องเที่ยวอะไรก็แล้วแต่ เขาจะได้มามีบทบาทมากขึ้น แต่ต้องเป็นบทบาทที่ต้อง connect กับโรงเรียนนะ เชื่อว่าถ้าเขาลงไปพื้นที่ปฏิบัติการจริง มันจะเปลี่ยน mindset ของมนุษย์ เขาจะเห็นโลกของความเป็นจริงได้ชัดขึ้น เขาจะเข้าใจเองว่าทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้ เราคิดว่านี่คือภารกิจของการสร้างนวัตกรรมของโรงเรียน สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ เราเชื่อว่า 6 ปีที่ผลิตเด็กออกไป ต้องไม่ใช่แค่รอด แต่ต้องรอดได้ดีด้วย

ที่ผ่านมามีปัญหาไหนที่แก้ไม่ได้บ้าง

ปัญหาที่อยู่คู่กันกับระบบการศึกษา เช่น ปัญหาความกังวลของพ่อแม่ที่มีต่ออนาคตของลูก พ่อแม่ทุกคนนะ ถึงแม้ว่าจะมาเรียนโรงเรียนนี้ ชอบโรงเรียนนี้เพราะเป็นโรงเรียนที่ทำกิจกรรม ลูกเหมาะกับโรงเรียนนี้แน่นอน มาเรียนแล้วมีความสุข แต่ลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหมอาจารย์ แล้วเราก็ตอบไม่ได้ เช่น หนูจะโตไปเป็นบาริสต้าที่ดีนะ เป็นผู้ประกอบการขายกาแฟที่ดีนะ มันบอกไม่ได้ แต่เราก็มั่นใจว่ามีเด็กโรงเรียนนี้เกือบทั้งหมดจะสอบเข้ามหา’ลัยได้แน่นอน ขอให้ขยันหน่อย เข้าได้แน่นอน ไม่ใช่เพราะเราเก่งเราดีอย่างเดียว แต่เข้าใจว่าตอนนี้หรือในอนาคตที่นั่งในมหาวิทยาลัยจะล้น แปลว่าผู้เรียนจะเป็นผู้เลือก ไม่ใช่ผู้ถูกเลือก

แต่เราก็ต้องบอกว่าไม่มีโรงเรียนไหนรับประกันได้นะว่าลูกคุณจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่บอกได้ว่า จากนี้ไปมหาวิทยาลัยจะล้น คุณจะเลือกชอปปิงเอาเองไม่ใช่ให้มหาวิทยาลัยมาชอปปิงคุณ หรือพยายามจะบอกสิ่งที่มหาวิทยาลัยคาดหวังจากเด็กในอนาคต แต่พูดเท่าไหร่ก็ปลดได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เราเองยังต้องแบกเลย

เพราะวิธีคิดภาพใหญ่ของสังคม คือ ยกย่องคนเก่ง ถ้าคุณเป็นหมอ วิศวกร คุณถึงเก่ง แต่ถ้าคุณเรียนภาษา คุณห่วย เป็นพวกเรียนข้างหลังห้อง ยังไม่ต้องพูดถึงพวกที่ไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย นี่คือวิธีคิด in general ซึ่งเราต้องยอมรับว่ามันดำรงอยู่จริง

ถามว่าเด็กจะหลุดจากระบบนี้ได้อย่างไร เราไม่รู้หรอก ก็ต้องเปลี่ยนจากมุมที่เล็กที่สุด เราไม่รู้หรอกว่าเด็กจะรอดหรือไม่รอด แต่เราเชื่อว่าถ้าเราใส่ภูมิคุ้มกันให้มากเท่าไหร่มันก็จะไปได้เยอะเท่านั้น เราเชื่อว่าถ้าเราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัวลึกเท่าไหร่มันก็จะยิ่งคงทนเท่านั้น แล้วมันจะไปปรับตัวเองในสังคมวงกว้าง

แต่ที่มากไปกว่านั้นคือเราเชื่อว่าโลกมันเปลี่ยนแล้ว เราต้องสร้างโมเดลใหม่ ซึ่งเราไม่รู้ว่าโมเดลใหม่มันไปรอดหรือไม่รอดนะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าโมเดลเก่าพาสังคมล้มเหลว เราไม่ทำ

กับนิยามว่าเน้นกิจกรรมมากกว่าวิชาการ เป็นปัญหาต่อโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน 

ลึกๆ แล้ว จะพูดอะไรก็พูดไป แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมา เด็ก ม.4 ม.5 ที่นี่ผ่านกระบวนการสอบ o-net ตอนม.3 เด็กไปสอบตามความสมัครใจ ไม่บังคับ ก็ไปกัน 80% ไม่ติวล่วงหน้า มีแค่ 1 ชั่วโมงแนะนำว่าสิ่งที่จะไปเผชิญไม่เหมือนกับที่ครูเคยสอนมาเลยนะ ข้อสอบหน้าตาเป็นอย่างนี้ แล้วลูกก็ไปทำในมุมของลูก สอบ 4 วิชา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาษาไทย ปีแรกเราจุดธูปนะ ขอให้รอด ขอให้รอด (หัวเราะ)

ที่นี่เน้นเรียนภาษาไทย วรรณกรรม ภาษาอังกฤษเข้มข้น คะแนน 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ระดับท็อปของประเทศ คณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ลงมาหน่อยหนึ่ง แต่เกาะกลุ่มสาธิต ไม่ขี้เหร่

แต่สิ่งที่เราเห็นมากกว่าคือเด็กคนหนึ่งเขียนร้อยกรองรวมเล่มของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ได้ตีพิมพ์ตั้งแต่อยู่ม.3 เรื่องถ่ายทำตัดต่อวิดิโอมีเยอะมาก อีกคนเขียนการ์ตูนเก่ง เลยให้มาช่วยครูทำสื่อการสอนสวยๆ มีความสามารถที่เขาปั้นของเขาเองเยอะมาก นั่นแปลว่ามันมีเรื่องแบบนี้อยู่ในตัวเด็กเยอะมาก เราคิดว่ามันเป็นมุมที่ระบบการศึกษาไม่ส่งเสริม

สำหรับอาจารย์ การทำโรงเรียนคืออะไร

ถ้าจะว่าไป โรงเรียนก็คือภาพจำลองของสังคม แต่มีหน้าที่พิเศษคือการเป็นพื้นที่บ่มเพาะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศ ประเทศถึงจะอยู่รอด แต่โรงเรียนมิใช่มีแค่สถานที่ ครู นักเรียน และหลักสูตรเท่านั้น จากประสบการณ์ของเรา โรงเรียนคือพื้นที่ของความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม อย่างที่เราใช้คำว่า “ระบบนิเวศการเรียนรู้” นั่นหมายความว่า โรงเรียนคือองคาพยพที่ต้องเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายของสังคม โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย โอบอุ้ม และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการอยู่ร่วมกันของทุกคน โรงเรียนต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริง เปิดกว้าง และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนจะงอกงามได้ในแบบของตัวเอง

Writer
Avatar photo
tippimolk

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Writer
Avatar photo
มิรา เวฬุภาค

Writer
Avatar photo
รุจิภาส กิจติเวชกุล

อินเทิร์นผู้มีคำถามแรกๆ ในชีวิตว่าคนเราเกิดมาทำไม และถามคำถามต่อๆ มาที่สังคมไม่อยากฟัง จึงหาคำตอบส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน

Photographer
Avatar photo
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts