เติบโตจากโรงเรียน เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า “โรงเรียนเพลินพัฒนา” ปั้น – ปติมา จงยิ่งศิริ

เติบโตจากโรงเรียน เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า “โรงเรียนเพลินพัฒนา” ปั้น – ปติมา จงยิ่งศิริ

“เวลาเข้าไปในห้องเรียนห้องหนึ่งก็เป็นสีลูกกวาดเลย” 

“ปั้น – ปติมา จงยิ่งศิริ” บอกกับเราแบบนั้น เมื่อถูกขอให้เล่าเรื่องราวของโรงเรียนเพลินพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่ให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างเต็มที่เพื่อการเรียนรู้ที่ยาวนาน ด้วยเป้าหมายที่อยากให้โรงเรียนเป็น “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” เพลินพัฒนาจึงผนึกกำลังของคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียน เพื่อช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่เป็นมิตรกับเด็กนักเรียนอย่างแท้จริง 

ปั้นสนุกสนานกับการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำที่โรงเรียนเพลินพัฒนามอบให้ และ​ “โครงการชื่นใจ” ตอนเธอเรียนอยู่ชั้น ม.3 ก็เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ที่ปั้นได้ค้นพบสิ่งที่เธอสนใจ และนำไปสู่เปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวเองจากนักเรียนตัวน้อย เป็นนักทำไอศกรีมและเจ้าของธุรกิจไอศกรีมแบรนด์ “Mind Ice Cream” 

นี่คือเรื่องราวของโรงเรียนเพลินพัฒนาที่ปั้นอยากเล่าให้ทุกคนฟัง 

เพลินพัฒนาในสายตาของปั้น

“ทุกคนจะพูดว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ พอเราได้มาเรียน มันก็เป็นเหมือนชุมชนจริง ๆ เพราะว่าเวลาที่เราเรียน เราไม่ได้เรียนแค่กับคุณครู แต่บางครั้งเราได้เรียนกับพ่อแม่ของเพื่อน หรือเรียนผ่านการทำกิจกรรม เรียนผ่านการเล่น มากกว่าที่เราจะเรียนผ่านการเลคเชอร์ แล้วเราก็รู้สึกว่าเพลินพัฒนาเป็นโรงเรียนที่ไม่เหมือนโรงเรียน เสื้อผ้าก็ไม่ได้ใส่ชุดยูนิฟอร์มที่เหมือนกับโรงเรียนอื่น ๆ แต่ยูนิฟอร์มของที่นี่มีให้เลือกหลากสี เพราะเขาอยากให้เด็กมีความสร้างสรรค์ และไม่จำเจว่าเราต้องใส่แค่เสื้อสีขาวกับกระโปรงสีน้ำเงิน เรามีชุดสีชมพู สีเหลือง สีฟ้า สีเขียว เรียกว่าเวลาเข้าไปในห้องเรียนห้องหนึ่งก็เป็นสีลูกกวาดเลย”

“เราเคยออกไปเรียนโรงเรียนอื่น แต่สุดท้ายก็ย้ายกลับมาเรียนที่นี่ เพราะเรารักสบาย (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าที่นี่มันสบายกว่า อยู่ที่นี่มีคนซัพพอร์ตเรา เขาส่งเสริมในสิ่งที่เราต้องการ ในสิ่งที่อยากเป็น เวลาเราอยากใส่ถุงเท้าข้อสั้นหรือถุงเท้าสี ๆ เขาก็ไม่ยึดถุงเท้าเรา ในขณะที่คุณครูก็มีความหัวสมัยใหม่ เข้าใจเด็กยุคใหม่มากกว่า คือที่นี่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่” 

เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมจริง

“การเล่นหรือการทำกิจกรรมมันช่วยให้เราเข้าใจมากกว่าการท่องจำ เมื่อไรก็ตามที่การเรียนรู้คือความเข้าใจ มันจะอยู่เราตลอดไป เหมือนการปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ พอเราเข้าใจหลักการของมัน เราได้ลองทำ มีประสบการณ์ เราก็จะจดจำมันได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปฝืนท่องจำจากตำราเรียน” 

“เราจำได้ว่าเราได้ไปภาคสนาม เราได้ไปดำนา เราก็เลยได้รู้ว่าการดำนาเป็นยังไง การเกี่ยวข้าวเป็นยังไง แล้วความรู้สึกของชาวนาเป็นอย่างไร ในขณะที่เราเป็นคนกินข้าว มุมมองที่เราไม่เคยไปสัมผัสกับอาชีพนั้น เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไง มันทรมานตรงไหน หรือมีความสุขที่อะไร แต่พอเราได้ไปอยู่ตรงนั้น ได้ไปใช้ชีวิตกับเขา ไปเห็นว่ากินยังไง ใช้ชีวิตยังไง ทำงานยังไงบ้าง เราก็เห็นคุณค่าของเขามากขึ้น หรือเห็นวิธีการทำงาน การทำการเกษตรมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่แค่เราจะดำนาอย่างเดียว แต่เราได้ดูการปลูกผัก ปลูกพืชอย่างอื่น หรือการเกษตรแบบผสม พื้นที่เป็นยังไง เขาจัดสรรพื้นที่อย่างไร แทนที่เราจะนั่งท่องว่าเกษตรอินทรีย์เป็นยังไง เกษตรผสมเป็นยังไง เราก็เหมือนได้ไปเห็นของจริงมากกว่า” 

“การเรียนรู้แบบนี้มันทำให้เราไม่ตัดสินจากมุมของเราคนเดียว พอเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อื่น ได้เห็นอารมณ์ของคนอื่น ได้สังเกตอะไรหลาย ๆ อย่าง คือเหมือนกับว่าพอเราได้เล่น ได้ทำนู่นนี่ มันก็เหมือนฝึกการสังเกตไปในตัวด้วย แล้วหลังจากทำกิจกรรม ก็มีให้มาเล่าเรื่องราวแบ่งปัน เราได้อะไร เพื่อนได้อะไร บางทีมันก็มีมุมมองใหม่ ๆ ที่เราคิดไม่ถึง แล้วมันก็จริงอย่างที่เขาพูด เราเลยรู้สึกว่าเราจะตัดสินอะไรสักอย่างจากสิ่งที่เราคิดไม่ได้” 

คนที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง

“ห้องเรียนหนึ่งห้องมีนักเรียนประมาณ 25 คน ตอนปั้นเรียนมีทั้งหมด 22 คน แต่มันก็แล้วแต่บางปี อย่างบางปีชั้น ป.3 มีนักเรียน 40 คน ก็ต้องแบ่งเป็น 2 ห้อง พอขึ้นชึ้นมัธยม มีแค่ 25 คนก็กลายเป็นหนึ่งห้องเรียน แล้วพอขึ้น ม.ปลาย ก็จะเป็นแบบถ้าเด็กสนใจอะไร เขาก็จะจัดหลักสูตรที่ซัพพอร์ตเด็ก ยกเว้นสายวิทย์คณิตที่ต้องเรียนตามหลักสูตรของกระทรวง แต่สายอื่น ๆ เขาก็เรียนวิชาที่อยากเรียน เรียนเฉพาะวิชาที่เขาจำเป็นต้องใช้กับวิชาเสริมที่จะช่วยซัพพอร์ตพวกเขา วิชาไหนที่ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องเรียน ก็ไม่ต้องเรียน เรียกว่าถึงมีเด็กเรียนคนเดียว โรงเรียนก็เปิดคลาสให้” 

“เด็กเพลินพัฒนามีเอกลักษณ์ของตัวเอง เหมือนเรารู้ว่าเราชอบอะไร เราต้องการอะไร แล้วเราก็เป็นตัวตนของเรา เราไม่ได้เถียงหัวชนฝา เรายังเปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น แต่เราจะไม่ทำอะไรตามกัน หรือติดว่าใครอยากทำอะไร เช่น ฉันชอบดนตรี ฉันอยากเล่นดนตรี ฉันต้องเรียนดนตรีคนเดียว ฉันก็จะเรียน หรืออีกคนชอบเศรษฐศาสตร์ ชอบการบริหาร การเงิน ไฟแนนซ์ ฉันต้องเรียนเรื่องธุรกิจคนเดียว ฉันก็จะเรียน คือทุกคนเป็นตัวของตัวเอง อยู่ได้ด้วยตัวเอง และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้เช่นกัน”

ส่งเสริมการหาตัวตน

“เราได้เล่นเยอะ ได้ทำกิจกรรมเยอะ เราได้เจออะไรหลายอย่าง ทำให้เรารู้โดยอัตโนมัติแหละว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร อย่างตอนเด็ก ๆ ก็มีพ่อแม่ของเพื่อนแต่ละคน เขาก็มีอาชีพที่ไม่เหมือนกัน โรงเรียนก็จัดกิจกรรมให้ไปดูอาชีพของพ่อแม่แต่ละบ้าน ทำให้เราได้รู้จักอย่างน้อย 10 – 20 อาชีพเลย ว่าแต่ละอาชีพเป็นยังไงหรือเขาทำอะไรกันบ้าง บางคนเป็นนักยิงปืน ช่างภาพ ทำนิตยสาร ทำอาหาร ดูดาว ทำการบิน และอีกเยอะมาก เราก็เลยได้เห็นอาชีพที่หลากหลาย”

“เมื่อก่อนเราทำหลายอย่างมาก ทั้งเรียนไวโอลิน เปียโน เต้นบัลเลต์ เต้นแจ๊ส ยิงปืนด้วย ก็คือจากที่ไปดูอาชีพของผู้ปกครองนั่นแหละ แล้วเราก็ชอบ เลยไปหัดยิงปืน กลายเป็นว่าคุณแม่ของเพื่อนก็ส่งเราไปคัดตัวเลย ตอนนั้นมีเด็ก 3 คน พอเข้าไปแข่งปรากฏว่าเพื่อน 2 คนที่ไปด้วยเขาร้องไห้กันหมด เพราะมันกดดันมากเวลาที่คัดตัว เวลาก็จำกัด แล้วเราต้องยิงให้ได้ 100 นัดในระยะเวลาที่กำหนด เราต้องมีสมาธิ แต่ปั้นชิลมาก แบบคุณแม่ยังตกใจ เวลายิงไม่เข้าเราก็หันไปขำกับคุณแม่ แถมยังมีเจ้าหน้าที่มาขอถ่ายรูปด้วย เพราะเขาบอกว่าโพสเจอร์ของเราสวย” 

“โรงเรียนเพลินพัฒนาทำให้เราเป็นตัวของเราเอง ถ้าสมมติให้เราไปเรียนในโรงเรียนที่ตีกรอบทุกอย่าง คุณต้องเดินแบบนี้ทุกอย่าง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะค้นหาตัวเองเจอไหม จะรู้ไหมว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือเราอาจจะแค่เดินตามเส้นที่เขาขีดมาแบบนี้ หรือเราอาจจะรู้ตัวช้า”

เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่

“สิ่งที่โรงเรียนให้ก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องทัศนคตินี่แหละ วัยเด็กเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะใส่อะไรเข้ามา มันก็จะจำ และกลายเป็นธรรมชาติ บวกกับประสบการณ์อื่น ๆ ที่ได้มาด้วย เลยคิดว่าเรื่องของทัศนคตินี่แหละที่เราได้มา เรื่องการมองโลกในแง่ดี แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนที่แพ้เป็น เราล้มแต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันคือวันสุดท้าย ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะเวลาเราทำอะไรสักอย่าง มันไม่ได้มีคำว่าผิดหรือถูก คุณครูหรือผู้ปกครองที่บ้านจะแค่แนะนำเราเฉย ๆ สมมติวันนี้เราทำผิด เขาก็จะชวนคุยว่าเราทำแบบนี้แล้วผลเป็นยังไง เหมือนให้เราคิดวิเคราะห์เอง แต่ไม่ได้โจมตีว่าไม่ควรทำแบบนี้ หรือสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ดี เราก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ทำผิดพลาด มันแก้ไขได้ และไม่มีอะไรผิดหรือถูก 100%” 

“เราเล่นกีฬาเยอะ อยู่ที่นี่ได้เล่นกีฬาเยอะมาก ได้เล่นรักบี้ ได้ปีนหน้าผา ว่ายน้ำ บาสเก็ตบอล แล้วก็มีงานกีฬาสี ซึ่งโรงเรียนใช้สิ่งเหล่านี้แหละมาสอนเราเรื่องน้ำใจนักกีฬา ชีวิตมีแพ้และชนะเสมอ”

“แล้วโรงเรียนมีงานกลุ่มเยอะมาก ทั้งงานกลุ่มที่เป็นกลุ่มย่อยในระดับชั้นตัวเอง รวมถึงงานใหญ่ ๆ ที่เราต้องไปคุมคนทั้งโรงเรียน อย่างงานกีฬาสีที่เราต้องจัดการทุกส่วน ตั้งแต่เด็กชั้นประถมจนถึงมัธยม รวมถึงพ่อแม่ของน้อง ๆ ว่าเราจะจัดการอย่างไร มีกิจกรรมอะไรบ้าง แบ่งส่วนยังไง จำได้ว่าปีของปั้น เราได้งบทำงานกีฬาสีแค่ 500 บาท ซึ่งก็เป็นความท้าทายว่า เราจะจัดงานกีฬาสีอย่างไรด้วยงบ 500 บาท สุดท้ายเราก็ไปขายน้ำ เราต้องหาเงินเพิ่ม เพราะเราอยู่ด้วยเงิน 500 ไม่ได้ ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เรารู้ว่าถ้ามีปัญหาแบบนี้ แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร” 

โครงงานชื่นใจ

“ทุกปีโรงเรียนจะให้นักเรียนทำโครงงานชื่นใจ เราจะได้ทำงานวิจัยเล็ก ๆ ถ้าเป็นมหา’ลัยก็เหมือนการทำธีสิสนั่นแหละ เราต้องทำทุกปี ตั้งแต่อนุบาลก็จะต้องมีโครงงานชื่นใจ ซึ่งเขาก็จะทำได้ในระดับที่เขาสามารถทำได้ ของปั้นตอน ม.3 คือเราอยากทำไอศกรีม ที่บ้านก็สนับสนุนเรา เขาเลยส่งไปเรียนทำไอศกรีมเสียเลย พอเราทำเป็นแล้ว เราก็เริ่มกลับมาคิดแล้วว่าจะทำไอศกรีมอะไรดีล่ะ จึงเริ่มทำแบบสำรวจว่าคนในโรงเรียนมีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง ผู้ใหญ่มีปัญหาอะไร แล้วก็สรุปได้ว่าเขามีปัญหาเรื่องความเครียด ความอ้วน และโรคเบาหวาน เราก็เอาสามปัญหานี้มาทำเป็นรสชาติไอศกรีม อันแรกเป็นไอศกรีมไขมันต่ำ แคลอรีต่ำ เป็นเชอร์เบทมิกซ์เบอร์รี่ อักอันเป็นชาเขียวที่ไม่มีน้ำตาล ใช้สารทดแทนความหวาน อีกอันเป็นนมน้ำผึ้งลูกเกด ก็ช่วยให้ผ่อนคลาย สุดท้ายโครงงานนี้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจได้ ซึ่งเราทำตั้งแต่ ม.3 แล้วทุกคนก็จะตกใจ เวลาที่ปั้นยื่นพอร์ตโฟลิโอเข้ามหา’ลัย เราก็ได้รับเลือกตั้งแต่รอบรับตรงเลย สุดท้ายก็ไปเรียนด้านอาหารและโภชนาการ” 

“โครงงานชื่นใจเป็นโครงงานเล็ก ๆ แล้วเขาก็จะมีช่วงเวลาให้เรานำเสนอผลงาน ว่าสิ่งที่เราทำคืออะไร แต่สิ่งนี้มันรวมกันหลายส่วนนะ คือถ้าที่บ้านไม่สนับสนุน ก็คงออกมาเป็นโครงงานนี้ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าโรงเรียนไม่ได้มีเงื่อนไขในการเรียน ว่าอันนี้เป็นสิ่งที่นักเรียนต้องทำนะ นักเรียนสนใจอะไร จะทำไร มันก็จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วสุดท้ายเราทำเงินกับโครงงานนี้ได้ ตอนนี้ก็ยังทำส่งร้านคาเฟ่บ้าง แล้วก็เป็นสูตรเดิมตั้งแต่ตอนนั้นเลย ทุกคนก็ยังชอบกินอยู่” 

ครอบครัวคือปัจจัยสำคัญ

“การที่เด็กคนหนึ่งจะโตได้ มันไม่ใช่แค่โรงเรียนอย่างเดียว พื้นฐานของที่บ้านก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายคนที่จบออกไปจากโรงเรียนเพลินพัฒนา แล้วมีปัญหา เข้ากับคนอื่นไม่ได้ บางทีก็อาจจะไม่ได้มาจากโรงเรีบน หรือบางคนไปได้ไกล ก็อาจจะเกิดจากที่บ้านส่งเสริมเขามาก ๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน คือโรงเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเด็ก แต่ส่วนตัวปั้นมองว่าพื้นฐานของครอบครัวส่งผลมากกว่า” 

“โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพราะเราทำงานร่วมกันทั้งเด็ก ครู และผู้ปกครอง เหมือนเป็นชุมชนที่เราแบ่งปันกัน เราเรียนรู้จากเพื่อน ครู พ่อแม่ของเรา และพ่อแม่ของเพื่อนด้วย ผู้ปกครองก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เขาจะได้เห็นพัฒนาการของลูก และพัฒนการของเด็กคนอื่นไปด้วยกัน มันจึงเหมือนเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กและผู้ปกครองไปพร้อมกัน แต่สุดท้ายแล้ว โรงเรียนก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะหล่อหลอมเด็กคนหนึ่งขึ้นมาได้ ไม่ใช่ทุกอย่างจะเริ่มต้นที่โรงเรียน แต่ก็ยังอยากให้โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นตัวเลือกที่ดีเหมือนกันนะ”

Writer
Avatar photo
ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts