“ศาสนา” “แผนที่” หรือ “จิตวิญญาณ” ใจความที่สำคัญที่สุดคือมนุษย์ต้องการ “พื้นที่ปลอดภัย” ไม่ใช่การแบ่งแยก บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“ศาสนา” “แผนที่” หรือ “จิตวิญญาณ” ใจความที่สำคัญที่สุดคือมนุษย์ต้องการ “พื้นที่ปลอดภัย” ไม่ใช่การแบ่งแยก บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

  • ‘จิตวิญญาณ’ นับเป็นวิถีทางอย่างหนึ่งที่เราจะแสวงหาความจริงเกี่ยวกับตัวเราและโลก โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลากว่ามันมาจากศาสนาใด มีลักษณะเป็นสากล คือเป็นเรื่องของคนที่สนใจเรื่องข้างใน แต่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ในศาสนาใด หรือวิถีใดวิถีหนึ่งโดยเฉพาะ 
  • จากรายงานของ Pew Research Center พบว่า ผู้คนจำนวนมากถึง 1,100 ล้านคนทั่วโลก ไม่นับถือศาสนา นักวิชาการทางศาสนาระบุว่า กลุ่มคนไม่มีศาสนาทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีประชากรไม่นับถือศาสนาเพิ่มถึงร้อยละ 20 สาเหตุเกิดจากประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้นและผิดหวังกับบุคคลทางศาสนา
  • สังคมควรมีพื้นที่ปลอดภัย ความเชื่อ ความศรัทธานี้ไม่ใช่การชี้ถูกผิดของใคร และควรนำมันคืนกลับไปให้เป็นของคนทุกคน

“ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” หน้าที่ของศาสนาในตำราเรียนไทยที่เราท่องจำ และพูดตาม ๆ กันมาแบบไม่รู้ตัวสร้างกรอบสมการทางความคิดว่า ศาสนาคือพื้นที่ผลิตคนดี และหากใครที่ไม่มีศาสนา แปลว่าเป็นคนไม่ดี จึงไม่แปลกที่พ่อแม่มักสบายใจหากลูกกราบไหว้รูปปั้นตัวแทนศาสนามากกว่าการแบ่งปันของเล่นกับเพื่อนต่างถิ่น ต่างพื้นฐานทางสังคม ต่างวัฒนธรรม 

หากแต่ในปัจจุบันในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากรายงานของ Pew Research Center พบว่ามีประชากรจำนวนมากถึง 1,100 ล้านคนทั่วโลกไม่นับถือศาสนา นับเป็นอันดับสามรองจากศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม นักวิชาการทางศาสนาได้ระบุสาเหตุไว้ว่ามาจากการที่ประชาชนผิดหวังกับบุคคลและองค์กรทางศาสนา 

การเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณมากขนาดนี้ย่อมสั่นคลอนองค์กรทางศาสนา บางแห่งเริ่มทบทวนบทบาทของความเป็นศาสนองค์กร คำสอน ความเชื่อ ความศรัทธา อย่างเช่น ความเคลื่อนไหวของศาสนจักรโรมันคาทอลิก ภายใต้การนำของสันตะปาปาฟรานซิสที่ได้จัดการประชุมขึ้น ณ กรุงโรม ในประเด็นเรื่องความกดดันและความท้าทายในโลกร่วมสมัย หรือการประชุม Synod เมื่อปี 2561 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในศาสนจักรที่กำลังเผชิญ “วิกฤตศรัทธา” โดยมีสาเหตุมาจากท่าทีของศาสนจักรในเรื่องเพศและความเท่าเทียม พระสันตะปาปาฟรานซิสยอมรับว่า “โครงสร้างของศาสนจักร คือสิ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก และออกห่างจากคนรุ่นใหม่” และจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างดังกล่าว (ข้อมูลจาก “โปร่งใส ตรวจสอบได้ กับความพยายามในการ ‘ปฏิรูปศาสนจักร’ ของโป๊ปฟรานซิส” : The Momentum :  ธัญภรณ์ ลีกำเนิดไทย) 

การปรับท่าทีและรับฟังคนรุ่นใหม่มากขึ้นของศาสนองค์กรอย่างศาสนจักรครั้งนี้ เป็นการริเริ่มสำคัญ และทำให้เห็นถึงการปรับตัวเช่นเดียวกับ ‘องค์กร’ ทุกแบบบนโลกใบนี้ที่ถูกเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนตามผู้คนที่กำลังเปลี่ยนแปลง และแม้ว่าการประชุมลักษณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ชวนให้พวกเราตั้งคำถามว่าในโลกยุคปัจจุบันที่กำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ศาสนองค์กรที่ยังคงปักหลักกับวิถีความคิดความเชื่อแบบเฉพาะ จะยังคงสอดคล้องกับวิธีคิดของโลกยุคปัจจุบันอยู่ไหม และหากยังคงอยู่ มันกำลังทำหน้าที่อะไรต่อผู้คนที่กำลังหลอมรวมชุดศีลธรรมความเชื่อที่เป็นสากลอย่าง “ความเสมอภาค” “ความเท่าเทียม” และ ”ความเคารพในการเป็นมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลาย” 

และหากไม่มีศาสนา เราจะไร้ความดีงามในใจจริง ๆ ไหม 

soul what และ mappa เปิดพื้นที่สร้างบทสนทนากับผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คอลัมนิสต์ และยูทูปเบอร์ที่มีชื่อเสียง ผู้มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย และอีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือ การเป็นกรรมการมูลนิธิวัชรปัญญา มูลนิธิที่เปิดพื้นที่เรียนรู้เรื่องการเติบโตภายในโดยไร้ข้อจำกัดหรือการแบ่งแยกทางศาสนา ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่แห่งนี้ยังเชื่อว่า ความเชื่อ ความศรัทธานี้ไม่ใช่ของใคร และควรนำมันคืนกลับไปให้เป็นของคนทุกคน

บทสัมภาษณ์นี้ดำเนินขึ้นอยู่ในพื้นที่วัชรสิทธา พื้นที่ที่ทุกความเชื่อ ความศรัทธาสามารถอยู่ร่วมกันได้ ในบ่ายวันอาทิตย์ที่แสงอบอุ่น 

ขอเปิดด้วยคำถามแรกเลย “มนุษย์อยู่ได้ไหมถ้าไม่มีศาสนา”

อยู่ได้แน่นอนครับ ตอบแบบฟันธง เพราะมนุษย์มีมิติด้านร่างกายที่มีความต้องการทางกายภาพ และมีมิติด้านจิตใจ แต่จิตใจไม่ได้มีแค่ศาสนาที่ตอบสนองได้ มนุษย์มีทั้งศิลปะ มีวัฒนธรรม มีวรรณกรรม มีอะไรอีกเยอะแยะมากมายที่ตอบสนองความต้องการด้านจิตใจได้ เพราะฉะนั้นแล้วถึงไม่มีศาสนา มนุษย์ก็อยู่ได้

ศาสนาทำงานกับมนุษย์แบบไหน

ศาสนาทำงานกับมนุษย์หลายระดับ เริ่มจากระดับปัจเจกบุคคล ศาสนาพยายามให้คำตอบ หรือมีชุดความคิดบางอย่างที่มนุษย์รับมาเป็นมุมมองต่อโลกและชีวิต คล้าย ๆ เป็นแพ็กเกจที่รับมาแล้วจะมีวิธีมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง หรืออาจมองว่า ศาสนาเป็นเครื่องมือบางอย่างที่มีไว้เพื่อแสวงหาความเข้าใจต่อตัวเอง ทั้งหมดนี้คือหน้าที่ที่ศาสนามีต่อปัจเจกบุคคล 

แต่ไม่ได้มีเแค่นั้น ศาสนาพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนองค์กร’ ขึ้น มีนักบวช มีพิธีกรรม มีวัฒนธรรมประเพณี แล้วฟังก์ชันของศาสนาเลยกลายมาเป็นเครื่องมือทางสังคมแทน เช่น การสร้างรากฐานทางศีลธรรม เพื่อให้คนในสังคมได้จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลว่าต้องปฏิบัติตัวต่อคนแต่ละประเภทอย่างไร

เมื่อศาสนากลายเป็นองค์กร และถูกดำเนินการโดยมนุษย์ มันมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดคอร์รัปชั่น และมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ศาสนาทำอีกหน้าที่หนึ่งซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องนัก คือ การสร้างสิทธิธรรมแก่ผู้ปกครอง หรือการมอบอำนาจบางอย่างให้ชนชั้นปกครองแล้วสร้างความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ในปัจจุบันเราจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาสนาไม่ได้มีแค่ด้านสวยงาม แต่มีฟังก์ชันของอำนาจด้วย 

นิยามของคำว่า ‘จิตวิญญาณ’ สำหรับอาจารย์

‘จิตวิญญาณ’ มันเป็นคำใหม่ที่น่าสนใจ เพราะแต่เดิมเวลาพูดถึงการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับตัวเองและโลก มักจะมีแค่วิธีการทางศาสนา แต่พอโลกมันมาถึงศตวรรษที่ 21 หลายคนเริ่มเห็นปัญหาในศาสนองค์กร ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากสังกัดศาสนาอีกต่อไปแล้ว แต่ยังต้องการแสวงหาตัวตนอันแท้จริง แสวงหาหนทางชีวิต แสวงหาความจริงต่าง ๆ เพราะฉะนั้นคำว่า ‘จิตวิญญาณ’ จึงนับเป็นวิถีทางอย่างหนึ่งที่จะใช้แสวงหาความจริงเกี่ยวกับตัวเราและโลก โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลากว่ามันมาจากศาสนาไหน แต่มีลักษณะที่เป็นสากล คือเป็นเรื่องของคนที่สนใจกระบวนการภายใน 

แบบนี้อะไรก็เป็น ‘วิถีทางจิตวิญญาณ’ ได้ วันนึงถ้ามีคนลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าขอนับถือ ‘ต้นลิ้นวัว’ ได้ไหม

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับคำถามนี้คือ ‘อะไรคือขอบเขตของศาสนา’ ในศตวรรษที่ 20 มีปรากฏการณ์นึงที่มาพร้อมกับศาสนาเรียกว่า ‘ลัทธิพิธี’ สิ่งนี้มีความต่างจากศาสนาตรงที่เป็นกลุ่มก้อนของความเชื่อ โดยมีแกนหลักอยู่ที่พิธีกรรม เช่น ผมมีกลุ่มเพื่อนที่นับถือเทพเจ้าสักองค์หนึ่ง ในหนึ่งวันต่อสัปดาห์เราอาจมารวมตัวกันแบบหลวม ๆ เหมือนมีการจัดตั้งชุดความเชื่อขึ้นมาด้วยกัน แบบนี้เรียกว่า ‘cult’ หรือ ‘ลัทธิพิธี’ มันเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ มีความเป็นปัจเจก ไม่ได้อยู่ร่วมกับชุมชนทางศาสนา คนที่มาทางนี้เขาไม่ได้มีชีวิตสังกัดศาสนาอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกัน ในโลกของทุนนิยมที่เขาอาศัยอยู่ซึ่งมีความผันผวน มีความไม่แน่นอน ตัวเขาอาจต้องการอะไรที่มันตอบสนองต่อความกลัวเหล่านั้น 

อีกสิ่งที่ลัทธิพิธีต่างจากศาสนา คือข้อกำหนดทางศีลธรรม ลัทธิพิธีไม่จำเป็นต้องมีข้อกำหนดทางศีลธรรมเหมือนกับศาสนา สำหรับศาสนา ไม่เกี่ยวกับว่าองค์กรจะใหญ่หรือเล็ก แต่เมื่อรับเอาศาสนานั้นไปแล้ว ก็ต้องรับแพ็กเกจทางศีลธรรมไปด้วย

ลัทธิพิธี มีหลักอยู่ที่ ‘ความเชื่อ’ กับ ‘พิธีกรรม’ ซึ่งลัทธิพิธีอาจเป็นของใหม่เลย หรืออ้างอิงจากศาสนาที่มีอยู่เดิมก็ได้ เช่น ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิม หรือลัทธิพิธีเฉพาะตัวบุคคล อย่างเสด็จพ่อ ร.5 พระสุพรรณกัลยา ในปัจจุบันนี้มีลัทธิพิธีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากกว่าศาสนาอีก เพราะการมีศาสนาใหม่ขึ้นมามันยากกว่า เพราะต้องเซ็ตอัปทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดโดยใช้หลักเกณฑ์ทางศีลธรรม ซึ่งไม่ค่อยมีใครอยากจะยุ่งกับหลักเกณฑ์เหล่านี้สักเท่าไร เพราะฉะนั้นโลกสมัยใหม่จึงมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดลัทธิพิธีเพิ่มขึ้น

มีลัทธิพิธีที่เกิดขึ้นโดยคนรุ่นใหม่บ้างไหม

ในโลกสมัยใหม่ จะเห็นคนรุ่นใหม่ เริ่มสนใจอะไรที่มาจากโลกตะวันตกมากขึ้น เช่น แม่มด (witchcraft) หรืออะไรก็ตามที่มีลักษณะแบบนิวเอจ (new age) ตอนนี้เยอะขึ้นมาก ซึ่งมันน่าสนใจ และอาจจะกลายมาเป็นลัทธิพิธีก็ได้ หลายคนที่ไปสนใจในวิถีเหล่านี้ เพราะเห็นว่าศาสนาเดิมที่เคยอยู่ หรือแม้กระทั่งที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยอยู่ มันไม่ตอบโจทย์ หรืออาจจะเห็นข่าวว่าองค์กรทางศาสนามีการคอร์รัปชั่น หรือมีบุคคลในศาสนาสร้างความเสื่อมเสีย และไม่ได้อยากสัมพันธ์กับตัวองค์กรทางศาสนาหรือนักบวชที่เป็นแบบนั้นแล้ว ในขณะเดียวกันก็อยากจะแสดงถึงความเชื่อบางอย่างที่มันไปกันได้กับคุณค่าสมัยใหม่อย่างแม่มดหรือ witchcraft คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีใครอยากเป็นศาสดา ทุกคนมีวิถีของตัวเอง และสัมพันธ์กับพลังงานบางอย่างได้โดยไม่ต้องอาศัยนักบวช ไม่ได้มีคัมภีร์มากำกับว่าวิธีแบบนี้ถูกหรือผิด เลยกลายเป็นลัทธิพิธีที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันเยอะ 

ไม่ได้มีความต้องการเป็นสถาบันหรือองค์กรความเชื่อ

อย่างที่บอกว่ามันเป็นปฏิกิริยาต่อสิ่งเก่า และความต้องการทางจิตใจของมนุษย์ยังคงเป็นที่ต้องการ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม ฉะนั้น เลยไม่แปลกที่เขาจะบอกว่าไม่ได้นับถือศาสนาแล้ว แต่เลือกอยู่ในกลุ่มก้อนเหล่านี้ หรือเลือกที่จะมีความเชื่อเหล่านี้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติ

จริง ๆ แล้วมนุษย์เราต้องการศาสนาหรือลัทธิพิธีไหม เรามีสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไร

ถามว่าทำไมบางคนถึงไปแสวงหาเรื่องพวกนี้ 

หนึ่ง ชีวิตมันมีความเร้นลับบางอย่างที่ตัวเราไม่รู้ว่าจะตอบคำถามพวกนั้นยังไง ทำไมคนคนนี้ถึงตายในเมื่อฉันรักและอยากให้เขาสุขภาพดีอยู่กับฉันนาน ๆ ศาสนามันอาจจะเป็นประตูอันนึงที่เราจะเข้าไปแสวงหาคำตอบของความลึกลับในชีวิต ซึ่งมันจะเกิดขึ้น เมื่อเราเริ่มสงสัย

สอง มีความทุกข์ ประสบอะไรบางอย่างในชีวิต ซึ่งตอบไม่ได้เลยว่าอยู่ในชีวิตช่วงไหน แต่เป็นไปได้ที่เขาอาจจะกลับมาสนใจคำสอนของศาสนา หรือวิธีการแสวงหาความจริงของศาสนา ถ้ามองในแง่นี้ ก็คล้าย ๆ เป็นการทดลอง

ถ้าเราเชื่อศาสนาบางเรื่อง เชื่อลัทธิพิธีบางเรื่อง หยิบจับตรงนี้นิด เชื่อตรงนั้นหน่อย สร้างสูตรของตัวเองขึ้นมาแบบที่เป็นตัวเราเชื่อ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามาถูกทางแล้วหรือเราคิดเองเออเอง

สุดท้ายแล้วเส้นทางการแสวงหาความจริง แม้ว่าจะเข้าประตูศาสนาไป แม้สนใจแค่บางสิ่งในศาสนพิธี หรือหลักธรรมคำสอนบางอย่าง แต่มันก็เป็นแค่ประตู ส่วนหนทางคือเรื่องของแต่ละคนที่ต้องเลือกเดิน ผมไม่เคยเชื่อว่าถ้าเรามาโห่ร้องแบบเดียวกันแล้วทุกคนจะเข้าถึงความจริงเหมือนกันหมด แค่จินตนาการก็ไม่รู้แล้วว่ามันจะนำไปสู่ความจริงแบบไหน 

ยิ่งถ้ามองจากมุมของศาสนาตะวันออก เวลาเราบรรลุถึงความจริง จะใช้คำว่า ‘self-realization’ หมายถึงมันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แม้ว่าแต่ละคนถือแผนที่อันเดียวกันที่บอกว่าการเดินทางไปเขาลูกนี้ต้องเจอกับเส้นทางแบบนี้ แต่บางคนอาจจะเลือกเส้นทางคดเคี้ยว บางคนชอบแบบเรียบ ๆ เดินง่าย ๆ แต่เดินไกลหน่อย

ดังนั้น การที่เราจะสร้างวิถีทางของตัวเองขึ้นมาโดยหยิบนั่นนิดหยิบนี่หน่อย มันจึงเป็นเรื่องปกติในเส้นทางจิตวิญญาณ เพราะเราแต่ละคนแตกต่างกัน แล้วอันนี้แหละที่เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ที่ต่างคนก็ต่างนิยามตัวเองได้ ฉันเป็นพุทธแต่ฉันก็ไม่ได้เป็นตามนิยามของความเป็นพุทธเดิมเป๊ะ 

ศาสนาพุทธในไทยปรับเปลี่ยนตามโลกปัจจุบันไหม

ปัญหาอย่างสำคัญ คือ ศาสนาพุทธของไทยมีความเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีอำนาจค่อนข้างมาก และมีอำนาจบังคับเรื่องการตีความ จริง ๆ มันมีความพยายามหลายครั้งที่จะตีความคำสอนของพุทธเถรวาทไทยให้แตกต่างจากเดิม แต่ว่าทุกครั้งที่มีคนตีความ รัฐไทยหรือองค์กรศาสนาพุทธก็จะเข้าไปจัดการเขาล่วงหน้าทุกครั้ง มันเลยเหมือนคุมกำเนิดไปเลย เช่น กรณีสันติอโศกหรือวัดธรรมกายก็เป็นตัวอย่างที่เขาไม่ได้ตีความตามพุทธกระแสหลัก เขาอยากจะตีความในแบบของเขา ซึ่งเขาก็มีสิทธิ์ แต่สุดท้ายอำนาจขององค์กรพุทธไทยก็เข้าไปจัดการ เขาเลยต้องแยกตัวออกไป แล้วต้องดำเนินงานในอีกชื่อหนึ่ง อีกรูปแบบหนึ่งไปเลย 

อีกประเด็นคือ ต้องมาคุยกันเรื่องอำนาจการตีความด้วย เพราะเราไม่ได้เป็นศาสนาที่มีองค์กรแบบศาสนจักรที่มีอำนาจกำหนดการตีความ จริง ๆ แล้วสิทธิในการเข้าถึงคัมภีร์ และการตีความเป็นของทุกคน เพราะฉะนั้นใครจะตีความยังไง แล้วคนอื่นเห็นด้วยหรือไม่ก็เถียงกันได้ และมันควรต้องจบในระดับการเถียง แต่ของเรามันไม่เคยจบในระดับนั้น เราคุมไว้ไม่ให้เกิด

ไม่เคยเปิดโอกาสให้ ‘เชื่อ’ ในแบบของตัวเอง

เพราะฉะนั้นพอเริ่มมีใครตีความแหวกออกไป องค์กรทางศาสนาที่สัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับรัฐและอำนาจรัฐก็จะตื่นตัวขึ้นมา แล้วมาจัดการกับเขาทันที มันเลยทำให้น้อยคนมากที่จะลุกขึ้นมาตีความให้แหวกไปจากเดิมแล้วไม่ถูกสั่งให้ปิดปากเงียบ ผลเลยกลายมาเป็นสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน คือพุทธไทยไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่ตีความต่างจากเดิม เขาเบื่อกับภาวะที่ต้องเจอ แล้วสิ่งที่เกิดต่อมาก็คือ โอเค งั้นกูไปหาวิถีอื่นเลยดีกว่า เพราะพุทธแบบเถรวาท มันจำกัดเกินไป 

จริง ๆ ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในความเป็นเถรวาทตั้งแต่ลังกาเป็นต้นมา พุทธแบบเถรวาทต้องได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐตลอด ฉะนั้นมันต้องยอมทำอะไรบางอย่างกับรัฐ เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในเชิงการควบคุม ตัวคำสอนเลยมีลักษณะของการควบคุมแบบนั้นอยู่ด้วย ประกอบกับเราถูกปลูกฝังมาให้เชื่อว่าสิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือมันถูกหมด แล้วเราไม่สามารถบอกว่าในหนังสือมันมีจุดบกพร่อง เช่น ในหนังสือพุทธศาสนา มีคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่บอกว่าผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย คำสอนแบบนี้ไปไม่ได้แล้วกับคุณค่าในโลกสมัยใหม่ ซึ่งอันนี้ศาสนองค์กรจะยอมรับไหมว่ามันไม่เวิร์ก เพราะมันมีอำนาจของคัมภีร์ที่บอกว่าสิ่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามเปลี่ยน ซึ่งถ้าท่าทีต่อคัมภีร์ยังเป็นแบบนี้อยู่ คงไม่มีวันที่จะเปิดโอกาสให้ตีความให้เชื่อมกับโลกสมัยใหม่ได้

มีนักวิชาการบางสายบอกว่าการมีศาสนายิ่งเป็นการแบ่งคนเป็นส่วน ๆ สวนทางกับโลกที่ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่คนกลายเป็น ‘พลเมืองโลก’ มากกว่าเป็น ‘พลเมืองประเทศ’ 

การแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนา เช่น ฉันเป็นใครแล้วตะโกนดัง ๆ มันจะเกิดในภาวะที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย อัตลักษณ์ของเราโดนตั้งคำถาม โดนเขย่า ไม่ว่าจะมาจากความเป็นโลกสมัยใหม่หรือโลกทุนนิยม พอเรามีความรู้สึกแบบนั้น คนส่วนใหญ่จะต้องเด้งตัวขึ้นมาแล้วก็บอกว่านี่คืออัตลักษณ์ของฉัน เพราะฉะนั้น พุทธเถรวาท หรือศาสนาอื่น ๆ ในโลกที่เผชิญหน้ากับสิ่งนี้  อัตลักษณ์จะถูกขับเน้นขึ้นมาให้ชัดเพื่อแสดงถึงความเป็นตัวตนขึ้นมาทันที ถ้าย้อนกลับมาดูสังคมไทย นอกเหนือจากประเด็นศาสนา อย่างเรื่องความเป็นไทย เมื่ออัตลักษณ์ถูกตั้งคำถาม เราจะดิ้นพรวดพราด มงกุฎ ชฎา ต้องมา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่เห็นจะเดือดร้อน ยิ่งโดนท้าทายมาก ยิ่งแสดงมาก บางครั้งเป็นความพยายามแสดงอัตลักษณ์แบบก้าวร้าว ไม่เคารพคนอื่น ก็ยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกมากขึ้น 

โลกสมัยใหม่จะไม่มีประเด็นนี้เท่าไร เพราะมองว่าทุกคนเป็นพลเมืองโลกเหมือนกันหมด ภาวะที่ถูกแบ่งแยกโดยเชื้อชาติ ศาสนา มันลดน้อยลงมาก 

คนรุ่นก่อนจะเป็นห่วงว่า ถ้าคนยุคใหม่ไม่มีศาสนาจะมีศีลธรรมดำรงชีพได้อย่างไร

มีนักศึกษาของผมมาเล่าให้ฟังว่าเขากลับไปพูดกับพ่อแม่ที่บ้านว่า ไม่อยากนับถือศาสนา และพ่อแม่ก็ตกใจว่า “เฮ้ย ไม่มีศาสนาจะเป็นคนดีได้ยังไง” ศาสนามันทำให้คนเป็นคนดี แล้วการที่คุณไม่มีเลยกลายเป็นว่าคุณคือคนเลว เขาก็งง แล้วมาเล่าให้ผมฟัง 

ผมก็บอกว่างั้นต้องอธิบายให้พ่อแม่ฟังใหม่ว่า เวลาเราพูดถึงความดี หมายถึงเราพูดเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากศาสนา ในโลกนี้มีคนจํานวนหนึ่งที่คิดว่าจริยธรรมมาจากศาสนา จริง ๆ แล้วมันมีหลายชุด มีชุดที่เป็นจากศาสนา เช่น ไม่ฆ่ากัน ไม่กินเหล้า เราคิดว่าโลกมีศีลธรรมหรือจริยธรรมแบบศาสนาเป็นประเภทเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วมีศีลธรรมกลาง ๆ เช่น การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น การมองเห็นคนอื่นเท่าเทียมกับตัวเอง สิ่งเหล่านี้คือศีลธรรมชุดกลาง ๆ ไม่เกี่ยวกับศาสนา ทีนี้คนรุ่นหนึ่งเขาถูกสอนมาว่าศีลธรรมมีอยู่ที่ศาสนาที่เดียว เลยคิดไปเองว่าถ้าไม่มีศาสนาจะไม่มีศีลธรรมชุดนี้ ถ้าไม่มีศาสนาเลยกลายเป็นคนเลวไป ซึ่งไม่จริง 

การไม่มีศาสนาไม่เกี่ยวเลยกับว่าเขาจะเป็นคนดีคนเลว เพราะมีศีลธรรมกลาง ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนา และศีลธรรมนี้สากลกว่าด้วย ศีลธรรมจากศาสนามีความจำเพาะ เพราะแต่ละศาสนาพูดไม่เหมือนกัน เอาแค่เรื่องกินเหล้าเรื่องเดียว พุทธบอกผิดศีล 5 คริสต์บอกไม่เป็นไร อิสลามบอกผิด บางศาสนาบอกกินเนื้อได้ อีกศาสนาบอกกินเนื้อไม่ได้ ทั้งหมดนี้คือศาสนามีความจำเพาะของศีลธรรมมาก เพราะมันเกิดภายใต้วัฒนธรรมแบบใดแบบหนึ่ง แต่สำหรับชุดศีลธรรมโลกนั้นสากลกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี ฉะนั้นจริง ๆ แล้วคนที่เขาไม่มีศาสนาไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนเลว แต่อาจหมายถึงเขายึดถือศีลธรรมทางสังคมก็เป็นได้

ประเด็นนี้ยิ่งสำคัญ เพราะถ้าศีลธรรมทางศาสนาไปกันไม่ได้กับคุณค่าสากลในปัจจุบัน คนที่จะหายไปคือศาสนา เพราะคนรุ่นใหม่จะไม่เอา ตัวอย่างเช่น บางศาสนาถือคุณค่าว่าคนไม่เท่ากัน เชื่อว่าคนนี้ดีกว่า คนนั้นเลวกว่า โดยธรรมชาติ อันนี้ขัดแย้งกับศีลธรรมสากลที่เห็นความเท่าเทียมเป็นคุณค่า แบบนี้คนรุ่นใหม่จะไม่เอา และเพราะแบบนี้เราจึงเห็นหลายศาสนาสลายไป 

ตอนนี้องค์กรทางศาสนาหลายแห่งปรับตัวแล้ว เขาเริ่มพูดเรื่องคุณค่า ที่น่าสนใจมากคือศาสนาคริสต์ ซึ่งโคตรอนุรักษ์นิยม แต่ปรับตัวเร็วมาก ล่าสุดโป๊ปเพิ่งออกมาประกาศว่า โฮโมเซ็กชวลเป็นเรื่องโอเค ซึ่งเมื่อก่อนถือว่าเป็นเรื่องผิดบาปต้องถูกลงโทษ อันนี้มีมาตั้งแต่โบราณในคริสตศาสนาเลย เพราะว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างโฮโมเซ็กชวล ดังนั้นมันถือเป็นความผิด แต่อยู่มาวันนึงพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันออกมาพูดว่า ไม่ผิด ใครจะตัดสินได้ไงว่าคนเป็น LGBTQ ผิด อันนี้คือการปรับเปลี่ยนให้ไปกับคุณค่าสากล จากเดิมที่สอนกันมาไม่รู้กี่ร้อยปีว่าผิด แต่ปัจจุบันมาบอกว่าไม่ผิดแล้ว แค่ยังไม่ได้มีการรับรองการแต่งงานเท่านั้น 

ศาสนาของไทยเราปรับตัวไหม

(ถอนหายใจ) พูดยากเลยครับ ถ้าเริ่มจากหนึ่งยังนับไม่ถึงหนึ่ง คนรุ่นที่เป็นผู้บริหารองค์กรศาสนาในประเทศเราอาจจะยังอยู่ในกรอบคิดแบบเดิม

หนึ่ง ยังไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าสากล ยังคิดและเชื่อว่าศาสนาดีกว่าสูงกว่า พอมันเป็นอย่างนี้ โอกาสที่จะปรับตัวมีน้อยมาก เพราะเขาไม่เชื่อว่ามันมีคุณค่าอื่น 

สอง เวลานึกเรื่องการปรับตัว นึกได้แต่เชิงรูปแบบ ไม่สามารถก้าวข้ามไปที่วิธีคิด เช่น พยายามทำให้สนุกคือต้องเทศน์ให้สนุก ต้องหาสื่อมาทำให้ศาสนากับคำสอนมันเข้าถึงได้ แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าเนื้อหาที่จะเอาไปให้เขามันใช้ได้อยู่ไหม มันต้องปรับไหม

ศาสนาบ้านเราจะอยู่รอดไหม

ตอนนี้ที่อยู่ได้ เพราะมีคนรุ่นนึงที่มีความศรัทธาอย่างจริงใจ และมีอำนาจรัฐอุปถัมภ์ จริง ๆ มันอยู่ได้ด้วยองค์ประกอบแบบนี้ ไม่ได้อยู่ได้เพราะปรับตัว หรือเพราะคนรุ่นใหม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อองค์กรพุทธศาสนาใหญ่ไม่ยอมปรับ มันก็เลยเกิดพุทธศาสนาแบบอื่นที่ดำเนินการโดยเอกชน โดยผู้คนกลุ่มใหม่ ๆ ที่จะรอดก็คือแบบหลัง ส่วนแบบแรกก็จะอยู่แบบแห้ง ๆ ไป มันยากที่คนจะเลิกนับถือ แต่สิ่งที่เติบโตนอกกระแสจะเบ่งบานขึ้นเรื่อย ๆ แล้ววันนึงส่วนที่แห้งจะหายไปจนคนไม่เห็นความสำคัญคล้าย ๆ การดำรงอยู่แค่เศษซากเก่าทางวัฒนธรรม แค่นั้นจริง ๆ 

Pew (Pew Research Center Demographic Projections) เคยทำแบบสำรวจคนที่ไม่นับถือศาสนาในโลก ซึ่งตอนนี้เพิ่มขึ้นกลายเป็นพันล้านคนในไม่กี่ปี การก้าวกระโดดแบบนี้ มันทำให้เห็นแนวโน้มว่าคนไม่นับถือศาสนาจะมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วโลกดิจิตอลยิ่งทำให้มากขึ้น เพราะมันทำให้เราได้รับคุณค่าแบบอื่นอย่างรวดเร็ว เด็ก ๆ ไม่ได้แค่อ่านหนังสืออยู่ในบ้าน เขาเห็นโลกผ่านออนไลน์ เขาได้เข้าถึงวิธีคิดแบบอื่น และคุณค่าแบบอื่น

คนบางกลุ่มบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่นับถือศาสนาแล้ว โลกต้องล่มสลายแน่นอน ศีลธรรมกำลังเสื่อมทราม อีกไม่นานจะถึงกลียุค 

(หัวเราะ) ผมกลับมองเห็นด้วยความหวังนะครับ คือศาสนาในส่วนที่มันไม่ปรับตัวแล้วมันก็จะค่อย ๆ พังพินาศไป แต่อย่างที่บอกแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะไม่เอาศาสนา ไม่ได้แปลว่าเขาปฏิเสธจิตวิญญาณ มันไม่ได้แปลว่าเขาปฏิเสธการแสวงหาความจริง ไม่ได้แปลว่าเขาปฏิเสธคุณค่าทางศีลธรรม มันมีแนวโน้มที่คุณค่าทางศีลธรรมจิตวิญญาณจะมีความเป็นสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีความแตกต่างหลากหลายด้วย แต่ละคนจะมีคุณค่าหรือมีรูปแบบการปฏิบัติของตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับการยึดถือคุณค่าที่เป็นสากล โลกมันจะไปทางนั้นต่างหาก แล้วผมก็หวังใจอยู่ว่า ผมจะอยู่ถึงตอนที่เห็นโลกมันเป็นแบบนั้น 

ขยายความคำว่าเป็น “สากล” หน่อยว่า พอมันถึงจุดนั้นหน้าตามันเป็นแบบไหน

ประชากรส่วนใหญ่ในโลกเริ่มเห็นแล้วว่าคุณค่าทางศาสนามันมีความจำเพาะ มันยึดโยงเฉพาะกลุ่มคนที่นับถือสิ่งเหล่านั้น ปัญหาสำคัญของโลกคือเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร คำตอบคือมันต้องมีคุณค่ากลาง ๆ ที่ทุกคนจะถือเอาไว้ แล้วทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ แต่คุณค่ากลาง ๆ นี้มันเป็นคุณค่าทางศาสนาไม่ได้ เพราะคุณค่าทางศาสนามันจำเพาะ คนรุ่นใหม่ก็เลยแสวงหาคุณค่ากลาง ๆ นี้ร่วมกัน ซึ่งแน่นอนมันมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” “สิทธิเสรีภาพ” “ความเสมอภาค” สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนใช้ได้ด้วยกันหมด ความเป็นสากลคือทุกคนต้องยอมรับได้แล้วไม่ขัดแย้งกับอะไร ความเสมอภาคไม่ได้ขัดแย้งอะไร ยกเว้นว่าขัดแย้งกับคุณค่าเก่า 

เราจะมีวิธีการสื่อสารกับคนรุ่นก่อนหน้านี้ได้อย่างไร ให้เรายังคงอยู่ร่วมกันได้

ผมคิดว่าผู้ใหญ่จะกังวลเรื่องศีลธรรม เขาเชื่อว่าศีลธรรมไม่สามารถแยกออกจากศาสนา ถ้าจะให้คนรุ่นนั้นเข้าใจ ต้องแสดงให้เขาเห็นชัด ๆ ว่า การที่ลูกหลานไม่ได้นับถือศาสนา ไม่ใช่เพราะเขารังเกียจศาสนา เขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับศาสนองค์กรหรือบุคคลในศาสนา คนรุ่นก่อนหน้านี้เขาก็สัมผัสได้ชัดเหมือนกัน ดูสื่อ ดูข่าว ก็จะเห็นว่าศาสนองค์กรมีปัญหา แล้วก็กลุ่มคนที่เป็นนักบวชหรือคนที่อยู่ในอำนาจมีปัญหา 

ถัดมาก็คือแสดงให้เขาเห็นว่าคุณค่าทางศาสนามันไปกันได้กับคุณค่าทางโลกสมัยใหม่ที่ลูกหลานยึดถือ เช่น ศาสนาบอกว่าไม่ต้องเบียดเบียนกัน มันก็ตรงกับศีลธรรมที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น อันนี้จะทำให้คนรุ่นก่อนเข้าใจได้ว่าการไม่มีศาสนาไม่ได้แปลว่าลูกหลานเรากำลังจะเละเทะเหลวไหล 

มีคนพูดว่ากลุ่มคนที่นิยามตัวเองว่า ‘ไม่มีศาสนา’ นั่นก็คือศาสนาหนึ่ง

(หัวเราะ) นี่คือปัญหาของการนิยามแบบนี้ มันเป็นการนิยามที่ไร้ขอบเขต เวลาพูดอย่างนี้ อะไร ๆ ก็เป็นหมด ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลยคำพูดแบบนี้ เพราะการที่จะบอกว่าอะไรเป็นศาสนา มันมีเกณฑ์ของมันอยู่ ฉะนั้นเวลาที่คนมีคุณค่าแบบใหม่อย่างการไม่นับถือศาสนา แปลว่า แค่มีระบบที่จะทำอีกแบบนึง แต่ไม่มีพิธีกรรม ไม่ได้มีศาสนองค์กร ไม่มีศาสนวัฒนธรรม อันนี้ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นศาสนาแล้ว

สรุปอีกครั้ง ศาสนาให้ประโยชน์อะไรกับมนุษย์

หนึ่ง มันก็เป็นสิ่งที่สะดวกในการมองโลกและชีวิต คือเรามีแพ็กเกจมาแล้ว เหมือนเราไปซื้อแฮปปี้มีล เราจะรู้ว่าจะได้กินน้ำอะไร กินอาหารอะไร คือมีมาครบ สำหรับศาสนามันก็ทำให้เรามีแพ็กเกจว่าจะสัมพันธ์กับผู้คน และสิ่งต่าง ๆ ในโลกได้อย่างไร แพ็กเกจนั้นมันช่วยสร้างมุมมองในแง่ปัจเจก

สอง เป็นความพยายามจัดตั้งสังคมที่มีความสัมพันธ์กัน คือ เคารพกันบ้าง หรือไม่เบียดเบียนกัน ผมว่าเป็นประโยชน์อีกอันมุมหนึ่งของศาสนา แล้วในแง่นึงมันเป็น way of life เป็นวิถีทางของการดำเนินชีวิต คือแต่ละคนต้องแสวงหาวิถีทาง อาจไม่ถึงกับบังคับเราว่าต้องเดินตามนี้เป๊ะ ๆ แต่การมีศาสนาก็เหมือนมีแผนที่ ที่ช่วยพาเราเดิน 

แต่ถ้าบางคนเขาเกิดรู้สึกว่าเขาไม่ได้มีเป้าหมายแบบเดียวกันกับในแผนที่อันนั้นแล้วเขาไม่ต้องการจะไปตรงนั้นแล้ว แผนที่นั้นก็ไม่จำเป็นสำหรับเขา เขาก็ไปหาของเขาเอง อาจจะไปภูเขาลูกอื่น แต่บังเอิญผมกับศาสนาอยากไปเขาลูกเดียวกัน แล้วผมไม่รู้ทาง ศาสนาก็มีไกด์ให้ ลองไปตามไกด์นี้ดู ถ้าผมบอกว่าทางแบบนี้ไม่เวิร์กก็อาจจะโยนแผนที่ทิ้ง อาจจะไม่ใช้แผนที่เลย หรือว่าไปหาแผนที่อันใหม่ 

เราช้อปปิ้งแผนที่ก่อนได้ไหม แล้วค่อยเลือก

ผมคิดว่าอาจจะต้องแยกเป็นสองประเด็น ประเด็นนึงคือการเป็นคนแสวงหา กับอีกประเด็นคือการเป็นนักช้อป ไม่เหมือนกัน คือเวลาช้อป เรายังไม่ยอมเอาตัวเองไปอยู่ในวิถีใดวิถีหนึ่ง เราแค่รู้สึกว่ามีอะไรที่ทำให้เราสบายใจ ก็จะช้อปไปเรื่อย ๆ อันนี้เป็นอันตรายต่อจิตวิญญาณ เพราะสุดท้ายแล้วเราจะไม่ไปไหน แต่ถ้าเราไม่เป็นนักช้อป เป็นนักแสวงหา แปลว่า เราซีเรียสจริงจัง มีเป้าหมาย แล้วก็มีคำมั่นสัญญากับเส้นทางที่ตัวเองเดิน แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไม่ได้ คือวันนึงถ้ารู้สึกว่าเส้นทางที่เลือกตอนแรกไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ได้พาไปที่ที่เราอยากไป เป้าหมายปลายทางเราเปลี่ยนไปแล้ว เราก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยน 

สุดท้ายแล้วเส้นทางจิตวิญาณ คือการทดลอง ต้องค้นหาไปเรื่อย ๆ และมันก็ยากที่อยู่ ๆ จะได้คำตอบเลยในเส้นทางเดียว ในเส้นทางจิตวิญญาณ ไม่มีใครที่พูดปุ๊บแล้วก็บอกว่า “โอเค กูจะเดินตามรอยเส้นทางนี้” ไปจนจบแล้วไม่เปลี่ยนเลย น้อยมาก ส่วนมากก็ต้องติดนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็ต้องแสวงหาไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าไม่ได้รู้สึกพึงพอใจกับชีวิต อยากรู้เพื่อเอาความรู้มาประดับประดา อย่างนี้อันตรายมากในทางจิตวิญญาณ​

ทำไมตัวอาจารย์ตุลถึงมาสนใจเรื่องศาสนาและปรัชญา

เวลามีคนถามอะไรอย่างนี้ ผมจะชอบตอบขำ ๆ ไปว่า มันเป็นมาตั้งแต่อดีตชาติ (หัวเราะ)

ตอนเด็ก ๆ ผมก็ไม่รู้ตัวหรอก ที่บ้านก็เล่าให้ฟังว่าเด็กคนนี้ชอบเล่นเป็นพระ อายุประมาณ​ 3-4 ขวบ คุณอาซื้อผ้าขนหนูสีส้มให้อันนึง ผมก็เอามาห่มเป็นพระ แล้วเรียกเด็กแถวบ้านมาเล่นด้วยกัน ไม่รู้ว่าไปจำมาจากไหน แต่เล่นแบบนั้นมาตลอด แล้วพอเริ่มอ่านหนังสือออก ที่บ้านก็พาไปไหว้พระที่วัด ก็ยิ่งสนุกกับอะไรแบบนั้น สนุกกับเรื่องพิธีกรรม เรื่องวัฒนธรรม ก็เลยลากเข้ามาเรื่องศาสนาด้วย ตอนแรก ๆ ก็สนใจศาสนาหลากหลาย เพราะบ้านตัวเองอยู่ต่างจังหวัด ที่นั่นมีคนหลายกลุ่ม มีเพื่อนเป็นคาทอลิก ชาวพุทธ ชาวจีนที่นับถือเจ้า เราไปกับเขาหมดเลยทุกที่ ใครชวนไปไหนก็ไป แล้วพอโตขึ้นมาเรียนในมหาวิทยาลัยก็มาเจอครูบาอาจารย์ ยิ่งทำให้ผมสนใจเรื่องวัฒนธรรม เรื่องศาสนามากขึ้น จนตัดสินใจไปเรียนต่อทางปรัชญา ซึ่งมันก็คนละเรื่องกับศาสนา แต่ว่ามันก็อาจจะอยู่ในขอบข่ายใกล้กัน 

นอกเหนือจากเรื่องพวกนี้แล้ว สิ่งนึงที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเรื่องศาสนามันจริงยิ่งกว่าเดิมคือ การมีความทุกข์ ผมเองก็มีความทุกข์ และสิ่งที่ศาสนาสอนในเชิงการปฏิบัติมันพอใช้ได้กับผม ก็เลยค่อย ๆ มาทางนี้มากขึ้น แล้วก็มาเจอที่นี่ด้วย มารู้จักกับ วิจักขณ์ (วิจักขณ์ พานิช: ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้งวัชรสิทธา) มันก็ทำให้ตัวเองได้เข้ามาลึกขึ้น แล้วมีโอกาสมาทำงานด้านนี้

แต่ทั้งหมดทั้งมวลมาจากอดีตชาติครับ (ยิ้มพร้อมหัวเราะ)

เปิดคอร์สเรื่องพิธีกรรม ตั้งใจจะสื่อสารอะไร หรือตั้งใจจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร 

จริง ๆ ผมไม่อยากเปิดเลย (หัวเราะ) คือด้วยความที่ตัวเองเป็นคนบ้า คืออยากรู้เรื่องอะไรเลยเอาตัวเข้าไปเรียน ผมไปเรียนกับครูบาอาจารย์ที่เป็นชาวอินเดีย ไปอยู่ดูแลท่าน ไปอยู่คุยกับท่านตลอดหลายปี ท่านก็สอนเรื่องพวกนี้ให้ผม แล้วตอนแรกผมก็เป็นคนประเภทอนุรักษ์เลย อะไรก็ต้องถูกเป๊ะ ๆ ห้ามผิด พิธีกรรมต้องเป๊ะ และไม่ชอบใจพวกที่เอาไปดัดแปลง สำหรับผมศาสนาต้องบริสุทธิ์ ผมเป็นคนแบบนั้นมาก่อน (หัวเราะ)  

ผมก็ไม่ตั้งใจจะสอนอะไรใคร แต่มีคนมารบเร้าหลายคน จนวันหนึ่งมาเจอกับวิจักขณ์ เขาบอกผมว่าคุณต้องสอน เพราะว่าเรื่องนี้มันมีคุณค่า คนเขาอยากรู้ แล้วมันก็ไม่ได้หาเรียนกันง่าย ๆ ผมก็มานั่งคิดอยู่นานมากเลยว่า จะสอนอะไรดี  แล้วจะสอนได้แค่ไหน แล้วมันจะผิดมันหรือถูกที่สอนเนี่ย (หัวเราะ) สุดท้ายผมก็ตัดสินใจ โอเค สอน

แต่ว่าผมสอนด้วยความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง คือสิ่งที่วัชรสิทธาพยายามทำ คือการคืนอำนาจกลับไปให้คนว่า เรื่องทั้งหลายที่เรียนกันมา ที่ถูกสอนกันมาว่าทำไม่ได้หรอก ต้องมีลำดับขั้นตอน ต้องมีครูบาอาจารย์ ต้องมีอำนาจอะไรต่าง ๆ ไม่จริงครับ สุดท้ายผมตกผลึกได้ว่าเรื่องจิตวิญญาณเหล่านี้ เราสามารถสัมพันธ์กับมันด้วยตัวเองได้หมด ผมเลยตัดสินใจสอน ผมสอนรูปแบบตามประเพณี แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะพูดเสมอก็คือ คุณเอาไปปรับได้ คุณเลือกที่จะสร้างสรรค์พิธีกรรมที่สัมพันธ์กับใจของคุณเองได้ และผมคิดว่าอันนี้คือข้อความสำคัญอันนึงที่ถูกซ่อนไว้ คือผมอยากคืนอำนาจความเชื่อ ความศรัทธาให้คนที่มาเรียนทุกคน 

ความเชื่อมัน ‘เคย’ เป็นของเรา 

จริง ๆ แล้วศาสนาถ้าเราพูดถึงมันในแง่ดีมาก ๆ มันคือสิ่งที่จะตอบสนองต่อปัจเจกแต่ละคน ให้มีวิถีทางในการเข้าใจตัวเอง เข้าใจโลกและชีวิต แต่วันหนึ่งมันถูกคว้าไปเป็นสิ่งที่องค์กรสร้างเป็นอำนาจขึ้นมา แล้วมันสร้างความรู้สึกว่า คนทั่วไปไม่สามารถสัมพันธ์กับมันได้ด้วยตัวเอง หลายคนก็เลยทิ้ง ผมกับวิจักขณ์ก็บ้าพอที่จะบอกกับทุกคนว่า คุณค่าแบบเดิมมันก็พออยู่ได้ ศาสนาเป็นสิ่งที่เรามีได้ แต่เราเอาศาสนากลับมาเป็นของเราสิ เอาสาระหรือสิ่งที่พูดในศาสนามาปฏิบัติ แล้วทำให้เป็นสิ่งที่พูดจากตัวเรา แทนการมอบให้สิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าพูดกับเรา 

ตรุงปะ รินโปเช (คุรุและธรรมาจารย์ชาวธิเบต ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ มหาวิทยาลัยแนวพุทธวัชรญาณ) เคยพูดเอาไว้ว่า โลกมันจะต้องเปลี่ยน คนจะไม่ได้อะไรกับศาสนาแล้ว และมันจะต้องยกระดับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณ’ ซึ่งมีความเป็นสากล เพราะฉะนั้นผมยินดีมากเลยที่แม้ผมนับถือศาสนาอื่น แต่จะเรียนอะไรจากซูฟี หรือเรียนอะไรจากพุทธวัชรยาน หรือมหายาน เราไม่จำเป็นต้องมาแปะป้ายอะไรทั้งสิ้น เราสามารถเข้าถึงคุณค่าร่วมกันได้

ความเชื่อและหลักการของที่นี่คือทุกคนมีอำนาจในตัวเอง ถึงชื่อว่า “วัชรสิทธา” คำว่า “สิทธิ” โบราณแปลว่าอำนาจ เราหมายถึงอำนาจของตัวเราแต่ละคน สิ่งที่อยากทำให้คนตระหนัก คือ ทุกคนมีสิทธิ์ และทุกคนมีอำนาจที่จะเข้าถึงความจริง เข้าถึงความงาม เข้าถึงความรู้ ด้วยวิธีการอันแตกต่างหลากหลาย ชอบครูคนไหน ก็เรียนกับครูคนนั้น สนใจแบบโบราณ ๆ หน่อยก็เรียนกับผม สนใจแบบภาวนาแบบพุทธหน่อยก็ไปเรียนกับวิจักขณ์ แต่ถ้าชอบเบา ๆ จัดดอกไม้เราก็มี ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ไม่มีใครด้อยกว่าใคร ผมคิดว่ามันคือแก่นแกนที่เราอยากจะสื่อ 

คนยุคใหม่พออกหักจากศาสนา แล้วไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทางไป

ผมคิดว่าบทบาทอีกอันนึงของที่นี่ (วัชรสิทธา) คือการเป็น “พื้นที่ปลอดภัยทางจิตวิญญาณ” เช่น เขาอกหักจากศาสนา อกหักจากนักบวช อกหักจากสำนักเดิม ที่เขาเคยเรียนมา ก็มาที่นี่ แต่ส่วนใหญ่คนจะอกหักจากการถูกตัดสินมากกว่า เธอดีไม่พอเธอ มีปัญหานู่นนี่นั่น แต่ถ้ามันมีสถานที่สักที่นึง ที่มันไม่ตัดสิน ผมว่า ‘วัชรสิทธา’ เป็นพื้นที่แบบนั้น เราไม่ตัดสิน คุณจะเป็นใคร คุณจะทำยังไง คุณจะคิดยังไง เราฟังหมดแล้วจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเราเถียงกัน แต่เราไม่เคยตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดี ผมคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่คนต้องการ คนไม่ได้ต้องการพื้นที่ที่จะให้คำสอนสูงส่งหรือบรรลุธรรมอะไรขนาดนั้น ก่อนอื่นขอแค่มีพื้นที่ปลอดภัยต่อทุกภาวะที่เขาเป็น คุณจะเป็นใคร คุณจะมีเพศสภาพแบบไหน เพศวิถีแบบไหน คุณจะเชื่อยังไง คุณจะไม่เชื่อยังไง คุณจะคิดยังไง ผมคิดว่าสังคมไทยต้องเร่งสร้างพื้นที่แบบนี้ เพราะตอนนี้มันเหลือน้อยเต็มที โรงเรียนก็ไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ห้องเรียนหลายที่ก็ไม่ใช่ วัดวาอารามหลายแห่งก็ไม่เป็น ทุกคนถูกตัดสิน ไม่มีใครที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้โดยปลอดภัย 

อาจารย์ตุลมีดูแลจิตวิญญาณของตัวเองอย่างไร

(หัวเราะ) ผมไม่ค่อยได้ดูแลเท่าไร แต่ว่าผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่มันยังช่วยผมในเส้นทางนี้ คือการมีกัลยาณมิตร เวลามีปัญหาอะไรแล้วไม่รู้จะทำยังไง ผมจะหลบไปนอนซะเป็นส่วนมาก คือหนีนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่ว่าพอมีกัลยาณมิตร เขาก็จะคอยทั้งให้กำลังใจและให้คำแนะนำ ที่สำคัญคือให้ความเชื่อมั่น ผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญสุดเลย ทุกครั้งที่ผมรู้สึกแย่ ไม่ว่าจะเรื่องทางโลกหรือทางจิตวิญญาณ จะมีกัลยาณมิตรอย่างวิจักขณ์หรือภรรยาผม พวกเขาจะเป็นคนที่ทำให้ผมกลับมาสู่ความเชื่อมั่นอะไรบางอย่าง เขาเชื่อในตัวผมแบบที่ผมไม่ได้เชื่อตัวเองขนาดนั้น ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันประหลาดมากเลย มันจะมีใครที่เชื่อเรามากกว่าตัวเราได้อีก ซึ่งมันมี (ยิ้ม) แล้วมันก็ทำให้เราสามารถที่จะประคับประคองตัวเองมาได้เรื่อย ๆ 

อีกสิ่งหนึ่งคือผมมีปณิธาน มีความรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อคนอื่น เป็นคำมั่นสัญญา ที่หากบางทีมันดาวน์ มันท้อ พอย้อนกลับไปเห็นคำสัญญา ก็ทำให้อยากลุกกลับมาทำอะไรบางอย่าง นี่คือวิธีการดูแลจิตวิญญาณของผม

บนเส้นทางสู่จุดหมายของคนแต่ละคน หลายครั้งต้องพบเจอกับทางที่สับสน งง ยาก และหลายครั้ง ‘ทาง’ นั่นแหละที่พาหลง การมีศาสนาเป็นแผนที่นำทางที่มีคนเดินมาก่อน ก็อาจช่วยให้ใครหลายคนกลับมาเดินทางได้ราบรื่นอีกครั้ง แต่แผนที่นั้นก็อาจไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาอย่างเหมาะสมกับทุกคน บางคนจึงต้องเริ่มทดลองเดินทางใหม่ และหลายคนอาจบุกเบิกเส้นทางใหม่ ๆ แต่นั่นคือ การทำให้มี ‘ทาง’ มากขึ้น สำหรับการก้าวเดินในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

นอกจากแผนที่ที่ช่วยบอกการก้าวเดินไปสู่จุดหมาย แผนที่ยุคใหม่มีการระบุ ‘จุดแวะพักระหว่างทาง’ ‘ร้านอาหารอร่อย’ ‘ปั๊มน้ำมัน’ เพื่อให้คนแวะพักระหว่างการเดินทางอันเหน็ดเหนื่อย สถานที่แบบนั้นอาจจะเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” “ผู้คนที่ปลอดภัย” “ความรู้สึกปลอดภัย” ที่เราจะสามารถอนุญาตตัวเอง ให้เราเป็นตัวเองได้เต็มที่ระหว่างการเดินทางบนเส้นทางของการเป็นมนุษย์ 

เรากำลังต้องการพื้นที่แบบนี้มากขึ้น และอาจเป็นสิ่งนี้ก็ได้ที่เรามองหาจาก “แผนที่” “ศาสนา” หรือ “จิตวิญญาณ” ​ในโลกอันซับซ้อน และไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกเรียกว่าอะไร ใจความที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ทุกคนต้องการไม่ใช่การแบ่งแยกด้วยคำเรียก แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการคือคำว่า “ปลอดภัย”

Writer
Avatar photo
มิรา เวฬุภาค

Photographer
Avatar photo
อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)