คุณปู่กับคุณพ่อหันหน้าคุยกันเพื่อเด็กรุ่นใหม่ได้เรียน = รู้

คุณปู่กับคุณพ่อหันหน้าคุยกันเพื่อเด็กรุ่นใหม่ได้เรียน = รู้

  • ถ้าเราเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ คำถามสำคัญ คือ การเรียนรู้มันยังต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียนอีกหรือเปล่า
  • สนทนากับ วิจารณ์ – วิจักขณ์ พานิช คุณปู่เเละคุณพ่อผู้มองการศึกษาในมุมมองที่ต่างกัน คนหนึ่งเชื่อว่าห้องเรียนที่ดี ครู เเละสภาพเเวดล้อมจะเปลี่ยนเด็กได้ ขณะที่อีกคนเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ทั้งความดี ความไม่ดี ความรู้ผิดรู้ชอบ
  • เมื่อการเรียนรู้ไม่ใช่เเค่รู้วิชา ชวนหาคำตอบว่า ถ้าเรียน ≠ รู้ การศึกษาเเละการเรียนรู้เเบบไหนเด็กถึงจะเอาตัวรอดในโลกที่ไม่เเน่นอนนี้ได้

เราไปโรงเรียนกันทำไม?

คำถามนี้เกิดขึ้นเมื่อเราต้องหยุดการไปโรงเรียนแต่ไม่ได้หยุดเรียน

บ้านกลายเป็นที่เรียน พ่อเเม่ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นครู หลายครั้งก็ต้องนั่งลงเรียนด้วยกันกับลูก จนเกิดคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า การเรียนรู้มันยังต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียนอีกหรือเปล่า

ถ้าเราเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เเล้วที่ผ่านมา เราเรียนรู้อะไรจากการไปโรงเรียน เพราะ 20 ปีในระบบการศึกษา หรือเวลา 1 ใน 4 ของชีวิตที่ถูกใช้ไป ยังทำให้หลายคนตอบตัวเองไม่ได้ว่า “ฉันคือใครเเละอยากเติบโตเเบบไหน” 

คำถามที่ยังไร้คำตอบมีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เส้นเเบ่งการเรียนรู้เเละการศึกษาก็ยังไม่ชัดเจน คำถามสำคัญคือ ถ้าเด็กคนหนึ่งต้องเกิดเเละเติบโตในโลกที่ซับซ้อน พร่าเลือน หาความชัดเจนไม่ได้อย่างนี้ 

เขาจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่อย่างไร? 

แล้วผู้ใหญ่ในวันนี้จะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง? 

จึงเป็นที่มาของ mappa live ครั้งที่ 6 ‘เรียน ≠ รู้ คุยกับคุณปู่และคุณพ่อผู้มองการศึกษาในมุมต่างกัน’ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 

การศึกษาที่ดีกว่านี้คือธงร่วมกันของทั้งคุณปู่และคุณพ่อ แต่ต่างกันตรงวิธีการ คนแรก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คุณหมอและคุณปู่ผู้สนใจและขับเคลื่อนประเด็นการศึกษามาหลายสิบปีที่เชื่อว่า ห้องเรียนที่ดี ครู สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้ มาสนทนาร่วมกับ วิจักขณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธาและคุณพ่อลูกหนึ่งที่เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ทั้งความดี ความไม่ดี ความรู้ผิดรู้ชอบ

ขณะเดียวกันบนโลกที่สับสนวุ่นวาย การเรียนรู้อารมณ์ภายในของตัวเองจะดึงความคิดของเรากลับสู่ปัจจุบันเพื่อเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เเละเข้าใจสังคม เด็กมีพื้นที่ปลอดภัยที่เเสดงความเป็นตัวเองอย่างอิสระ ส่วนพ่อเเม่ได้รับรู้ตัวตนที่เเท้จริงของลูกผ่านพื้นที่ปลอดภัยนั้น

ชวนหาคำตอบว่า ถ้าเรียน ≠ รู้ การศึกษาเเละการเรียนรู้เเบบไหนเด็กถึงจะเอาตัวรอดในโลกที่ไม่เเน่นอนนี้ได้

การศึกษากับการเรียนรู้เป็นสิ่งเดียวกันไหม

“จะใช้เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้” 

คำตอบของคุณหมอวิจารณ์ ผู้ขับเคลื่อนวงการศึกษามาหลายสิบปี เพราะความหมายของสองคำนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เเละความหมายของคนพูด 

เเต่ข้อเเตกต่างหนึ่งที่คุณหมอเห็น คือ การศึกษาจะมีความหมายทางการ มีระบบระเบียบชัดเจน ให้วุฒิการศึกษา เเละมีวันจบ ขณะที่การเรียนรู้เป็นเรื่องของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือ องค์กร ไม่มีเเบบเเผนตายตัว 

“เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดชีวิต เกิดได้ทุกที่ ไม่จำกัดเวลาหรือสถานการณ์” 

เมื่อการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงนำมาสู่คำถามคาใจพ่อเเม่ในวันที่เขาต้องเป็นครูเเละนั่งเรียนเป็นเพื่อนลูกมาเกือบ 2 ปีว่า ในระบบการศึกษามีการเรียนรู้ไหม ถ้าการศึกษาไม่มีการเรียนรู้ได้หรือเปล่า และถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะคาดหวังอะไรจากระบบการศึกษาได้บ้าง

ในฐานะคนที่คลุกคลีในวงการศึกษา คุณหมอบอกว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยมีความเเข็งตัวสูง เรียนรู้เเละปรับตัวน้อย ผู้ใหญ่ในระบบเองก็ยอมรับว่าการศึกษาไทยกำลังมาผิดทาง เเต่การแก้ปัญหาเป็นเรื่องซับซ้อนเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม

เมื่อความหวังจากระบบเริ่มริบหรี่ เเละการไปโรงเรียนอาจไม่เพียงพอ จึงเป็นหน้าที่ของพ่อเเม่ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะความรู้บางเรื่องโรงเรียนก็สอนไม่ได้หรือไม่ได้สอน เเต่พ่อเเม่สอนได้ เพราะมีความใกล้ชิดกันมากกว่า

“สำหรับผมสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้ให้ คือ ความขยันหมั่นเพียร ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เรียนได้ไม่ดี เเต่ต้องเรียนจากชีวิตจริง ไม่ต้องสอน เเต่เราเรียนรู้ได้เอง เเล้วมันจะโยงมาสู่เรื่องการเรียนการสอนว่าหลายครั้งการสอนก็ไม่เกิดการเรียนและหลายครั้งการเรียนก็ไม่ต้องมีการสอนก็เกิดการเรียนได้”

วิจารณ์ พานิช

การศึกษามิติภายในคือการรู้จักขอบของตัวเองที่ซ่อนอยู่

วิจักขณ์อธิบายความหมายของการศึกษาภายในว่า ไม่ใช่การนั่งสมาธิหรือสวดภาวนาทุกลมหายใจ เเต่เขาให้ความหมายของการเรียนรู้ภายในว่า เป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเอง เปิดรับมุมมองเเละมีพื้นที่ให้ตัวเอง เรียนรู้ความสัมพันธ์ ประสบการณ์ตรง เเละอารมณ์ความรู้สึก

“ผมคิดว่าความเครียดสะสมอยู่ในตัวเรา อยู่ในงานที่ทำ เเล้วสุดท้ายมันจะปะทุออกมา”

ดังนั้นเราต้องหาขอบของตัวเราที่ซ่อนอยู่ในทุกการสื่อสารเเละความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเดียวหรือสองทาง

“ไม่ว่าเราจะมีการศึกษาที่ดี  มีครอบครัวที่เพอร์เฟ็คต์ หรือถูกหล่อหลอมให้เป็นคนดีเเค่ไหนก็ตาม หรือในตอนปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเเละสังคม ผมคิดว่าเราจะเจอข้อจำกัดของตัวเอง คือ จุดที่เรารับไม่ได้หรือเห็นต่าง ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดความทุกข์ภายใต้ข้อจำกัดนั้นในมุมมองของแต่ละคน”

อีกทั้งสิ่งสำคัญของการเรียนรู้เส้นทางภายใน คือ การรู้ว่าอะไรคือโจทย์ อะไรคือปัญหา เพียงเเต่การศึกษารูปเเบบนี้ คือ การให้ความทุกข์เป็นโจทย์ เนื่องจากความทุกข์เป็นสิ่งที่เราเเก้ไม่ได้เเล้วต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปได้

เเละเป็นโจทย์ที่ไม่ได้อยู่ตามตำราหรือห้องเรียน เเต่เป็นโจทย์จากชีวิตจริง

วิจักขณ์ พานิช (ภาพ: วิจักขณ์ พานิช)

จุดเชื่อมการศึกษาภายในเเละภายนอกคือพื้นที่ทางใจ

การเติบโตไปพร้อมกับระบบการศึกษา ทำให้บางครั้งเราพยายามเป็นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์เเบบของระบบ เเต่ในความจริงเราอาจจะกำลังล้มเหลวก็ได้

“ตอนผมเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่ง สำหรับระบบการศึกษาถือว่าผมเป็นผลสำเร็จ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผมสับสน ไม่รู้จักตัวเอง เเละไม่มีแพชชั่นที่จะออกไปปฏิสัมพันธ์กับโลก ไม่มีเเรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ไม่รู้สึกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ เเววตาผมคือการมองหางานเเละการคอนเฟิร์มจากข้างนอกตลอดเวลา เเง่หนึ่งผมถูกมองว่าคือผลสำเร็จ แต่อีกด้านหนึ่งผมคือความล้มเหลวของระบบการศึกษา เพราะการศึกษาไม่ได้ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าผมจะเป็นเจ้าของการเรียนรู้เเละต่อยอดได้”

เขามองว่า การศึกษามิติภายในจะช่วยให้เราเห็นบรรยากาศห้องเรียนผ่านมุมมองใหม่ที่ไม่ได้เป็นการสอนทางเดียว เเต่เป็นพื้นที่เเลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากผู้เรียน ไม่ถูกบังคับหรือวัดผล

คุณหมอวิจารณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้ที่ดีไม่ใช่เเค่รู้วิชา เเต่การเรียนรู้ทางด้านจิตใจก็สำคัญ

“การเรียนรู้ทางจิตใจไม่ใช่เเค่ใจเรา เเต่ต้องเรียนรู้ใจคนอื่นด้วย เพราะการเรียนรู้ที่เเท้จริงเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกเเละรอบด้าน รวมถึงการจัดการเรียนรู้ไม่ควรยึดเเค่หลักทฤษฎีเเต่ต้องปรับให้เข้ากับผู้เรียนด้วย”

ปลายทางของระบบการศึกษาในมุมมองต่างกัน

ปลายทางระบบการศึกษาของนักการศึกษาวัย 79 ปี คือ ‘เด็กจะเรียนตามความเชื่อของตัวเอง’

“เด็กไทยจะได้รับการศึกษาเเบบ Active Learning เรียนตามความเชื่อของตัวเอง ลงมือทำ เเล้วดูผลลัพธ์ เเละมาคิดทบทวนกับตัวเอง เเละเเลกเปลี่ยนความเห็นของเพื่อน”

รวมถึงครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกผู้กำหนดเป็นดีไซเนอร์ กระตุ้นให้เด็กคิดเเละเห็นเเตกต่างกัน

“เเต่การเห็นต่างควรจะอธิบายได้ว่าทำไมคิดเเบบนั้น ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กเข้าใจว่า มนุษย์เราคิดต่างกัน คิดถูกคิดผิดไม่สำคัญ เเต่อย่างน้อยเขาคิดเเละฟังเป็น เขาจะรู้เองว่าคิดเเบบไหนดีบนพื้นฐานความจริง”

ส่วนปลายทางการศึกษาของวิจักขณ์ คือ หวังว่า “การศึกษาจะเท่าเทียมกัน”

เราสามารถพาลูกเข้าโรงเรียนไหนก็ได้โดยไม่ต้องกังวลว่า ลูกเราจะถูกบูลลี่ ครูจะเก่งหรือไม่เก่ง ถึงเเม้ว่าปัจจุบันจะมีโรงเรียนทางเลือกที่พยายามจะเเทรกเเนวคิดใหม่ ปฏิรูปการศึกษาด้วยตัวเองเเล้วดึงผู้เรียนหรือพ่อเเม่ เเต่ค่าใช้จ่ายสูง ผมคิดว่าเราจะ repeat pattern แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้”

วิจักขณ์เเนะนำว่า ระบบการศึกษาควรทบทวนตัวเองว่า การศึกษาที่ใช้อำนาจนำ (top-down) สอดคล้องกับสภาพเเวดล้อมปัจจุบันหรือเปล่า

เนื่องจากตอนนี้การศึกษาไทยเป็น ‘การศึกษาของผู้กดขี่’ คือ ถ้าอยากเป็นผลสำเร็จของระบบ เราจะต้องเพิกเฉยความเป็นมนุษย์ เช่น การถูกบูลลี่ การท้องในวัยเรียน เพื่อนเพศทางเลือก หรือความรู้สึกที่ครูจะทำอะไรก็ได้ไม่ผิด โดยไม่สนับสนุนการเเชร์ประสบการณ์ ไม่เข้าใจ เเละ ไม่รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนเเปลงได้

ถึงเเม้ว่าการศึกษาอยากมองเฉพาะการเรียนรู้ของเด็กเป็นหลัก เเต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กรุ่นใหม่โกรธมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องทนอยู่กับโรงเรียน กติกา หลักสูตร กระทรวงศึกษา สังคมเเละการเมืองเเบบนี้ เพราะเขาเห็นความทุกข์ของคนอยู่ตรงหน้า ทำให้เขาสนใจเเละไม่เพิกเฉย

“สุดท้ายเมื่อเขาคิดได้ เเล้วลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เราบอกให้เขาควรเป็นตัวเอง เราจะรับฟังคุณ สุดท้ายบรรยากาศรับฟังเขาไหม เรามองเด็กกลุ่มนั้นเป็นอย่างไร กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเคยพูดเชิงความคิดไม่สอดคล้องกับการให้พื้นที่หรือจิตสำนึกทางการเมืองที่พึงมีต่อกลุ่มเหล่านั้นจริงๆ”

วิจักขณ์ชวนคิดต่อว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าสุดท้ายยังใช้วิธีการเดิมเเล้วหวังให้มีคนที่มองเห็นปัญหาลุกขึ้นมาทำ 

คนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดี ไม่ใช่เพราะเขาทำบุญน้อยหรือน่าสงสาร เเต่โจทย์ต่อมาของการศึกษา คือ จะทำอย่างไรให้เเนวคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม เเละเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับเเละส่งเสริมในทุกคน ทุกโรงเรียนอย่างเท่าเทียม ซึ่งเขามองว่า การศึกษาไม่สามารถแยกขาดจากจิตสำนึกทางการเมืองได้

Learn Unlearn Relearn ความรู้เป็นเพียงมายาคติเเละอคติ 

“โลกเปลี่ยนเร็ว ความรู้เป็นเพียงของชั่วคราว”

วิจารณ์อธิบายว่า มนุษย์ learn unlearn relearn ตลอดเวลา สิ่งที่เราเชื่อตอนเด็กอาจจะไม่จริงเสมอไป เมื่อเราโตขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนเเปลงตลอดเวลา 

มุมมองของวิจารณ์ การยึดมั่นถือมั่นในความรู้เป็นเรื่องที่ควรจะ unlearn เพื่อให้ทุกคนเดินต่อในระบบการศึกษา

“ความรู้บางเรื่องเป็นมายาคติเเละควรจะเลิกเชื่อเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ เเต่หลายเรื่องในสังคม เราไม่อยากไปท้าทาย คำว่า learn unlearn relearn สำหรับผมเหมือนกับคำว่าความรู้เป็นของชั่วคราวในโลก VUCA World เพราะฉะนั้นเราจะยึดมั่นถือมั่นกับความคิดเเบบเก่าไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว”

“ยกตัวอย่างเช่น ตำเเหน่งศาสตราจารย์ของผมไงเป็นมายา หลุดเเล้วมันเบาสบาย เป็นอิสระ เเละไม่กดทับคนอื่น เพราะอย่างนั้น ที่บอกว่ารู้ จริงๆ เป็นเพียงเรื่องสมมุติในสถานการณ์ นี่คือสิ่งที่ผมเข้าใจ”  

สำหรับวิจักขณ์มองว่า บางครั้งเราไม่ยอมรับว่าไม่รู้ ยิ่งคนมีความรู้มากยิ่ง unlearn ยาก เเล้วกลายเป็นตัวตนของคนคนนั้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้คนอื่นไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าจริงใจกับความคิดของตัวเองเเละไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์กันตรงๆ 

การยอมรับความไม่รู้จะทำให้เราเปิดที่จะอยู่กับคนตรงหน้าอย่างเต็มที่ มิติการศึกษาภายใน เรียกว่า presence – การดำรงอยู่ตรงนั้นในปัจจุบัน

คือเรากำลังจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน เพราะอุปสรรคคือความเคยชิน ความคิดว่าเรารู้แล้ว เรารู้ดี ที่ทำให้เกิดอคติ

“เมื่อเรารับรู้ presence ของตัวเอง เราจะมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เปิดกว้าง เเละถ้าเรายอมรับว่าเรามีขอบหรือกำแพงที่ทำให้เราไม่เปิดตรงไหนมันจะช่วยเชื่อมให้เราสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เเละลดช่องว่างกับเจเนอเรชั่นใหม่ๆ เพราะเราคือเพื่อนร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับเขา”

พ่อเเม่ไม่ได้รู้ดีไปกว่าลูก จงสร้างพื้นที่ปลอดภัยเเละวางใจว่าลูกจะรับมือได้

พ่อเเม่ทุกคนพยายามจะเป็นพ่อเเม่ที่ดี อ่านหนังสือ ค้นคว้าเต็มที่ เเลกเปลี่ยนความคิดเเละวิธีเลี้ยงลูก

เเต่วิจักขณ์พบว่า เมื่อลูกเป็นวัยรุ่น จริงๆ เเล้วเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเลย 

เพราะบนความสัมพันธ์จริง ลูกคืออีกชีวิตหนึ่งที่มีมุมมอง มีประสบการณ์ มีอารมณ์ความรู้ เเละมีตัวตนของเขาเอง การทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดา เเต่จะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันได้

ทำให้พ่อต้อง unlearn ว่า “เราไม่ได้รู้ดีไปกว่าลูก” เเละ “เราไม่สามารถควบคุมชีวิตลูกได้”

“สมัยก่อนไม่ชอบคำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน เเต่พอโตขึ้นก็มีสิ่งนี้ในตัวเราคล้ายว่ามีประสบการณ์มากกว่า เเต่ลูกไม่ได้มองเเบบนั้น เเต่เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้อง unlearn อย่างน้อยวินาทีที่เราสัมพันธ์กับเขา ไม่งั้นคุยกันไม่รู้เรื่อง ความสัมพันธ์ที่เคยคุยกันได้ พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกันตรงนั้นหายไป ผมมองว่าพื้นที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในมิติของการศึกษาภายใน ถ้าเราไม่มีพื้นที่แล้วมันยากที่จะเกิดการเรียนรู้

“อยากให้พ่อเเม่เข้าใจว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะโตขึ้นในโลกสมัยใหม่ มีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้เยอะมาก อย่าไปยึดติดกับบทบาทพ่อแม่เหมือนหมวกที่ถอดไม่ได้ เพราะโลกใบนี้มีปัจจัยที่เกินความคาดหวังเราไปเยอะมาก เขาจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวเขาว่าจะสัมพันธ์กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เหล่านี้อย่างไร ซึ่งพ่อเเม่ควรจะพาลูกไปสัมพันธ์กับปัจจัยที่กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เเละสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ลองผิดลองถูก มีวิจารณญาณด้วยตัวเองเเละวางใจว่า ลูกจะรับมือกับมันได้ เเล้วเราก็จะอยู่กับเขา ไม่ว่าเขาจะเจออะไร”

วิจักขณ์เชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนจะมีการเดินทางภายในของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สับสนเเละกลัวได้ เเต่ถ้าเราเเชร์ความเป็นมนุษย์นี้กับลูกเราได้ สุดท้ายเราจะเป็นเพื่อนที่ดีเเละพื้นที่ที่ดีให้ลูก 

วิจารณ์เสริมว่า เด็กต้องการพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ทั้งเชิงกายภาพ จิตใจ เเละสังคม ทำให้ครูเเละพ่อเเม่จะต้องเข้าใจวิธีสร้างบรรยากาศของพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้เด็กสบายใจเเละเเสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเป็นธรรมชาติ

“เด็กสามารถเเสดงออกได้ตามที่คิดโดยไม่กังวล ไม่ปกปิด ปิดบัง ถ้าเป็นห้องเรียน กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ เด็กจะสังเกตเเละคิดใคร่ครวญเเล้วครูตั้งคำถามให้เขาพูดออกมา ถ้านักเรียนรู้สึกว่าเขาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เขาจะพูดออกมาได้โดยไม่กังวลว่าผิดหรือพูดไม่เหมือนเพื่อน เพราะครูสร้างพื้นที่นี้ให้นักเรียนเเต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง”

โลกเปลี่ยนเร็วเเละความรู้สึกภายใน คือ ความท้าทายของเด็กยุคใหม่

โลกเปลี่ยนตลอดเเละหมุนเร็ว วิจารณ์คิดว่า ทักษะที่เด็กคนหนึ่งควรมี คือ การรู้เท่าทันโลกเพื่อปกป้องตัวเอง

“เป้าหมายสำคัญของการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ดี คือ การรู้เท่าทันโลก ปกป้องตัวเองจากสิ่งไม่ดีได้ ไม่ทำให้ตัวเองเเละคนอื่นเดือดร้อน รู้เท่าทันที่จะหลบหลีกเเละไม่ตกเป็นเหยื่อ”

ถ้าถามว่าคนรุ่นต่อไปจะมีชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไร คำตอบจากวิจารณ์ คือ การศึกษาเเละการเรียนรู้จะต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถอยู่ในโลกเเบบนั้นได้ คนรุ่นใหม่ถึงจะมีความสุข

ขณะที่วิจักขณ์มองว่า ในอนาคตอิสระเสรีภาพจะเป็นเเรงขับเคลื่อนความหวังของเด็ก ทำให้เขารู้ตัวเองว่า เขาต้องการอะไร เเต่อีกมุมหนึ่งอาจทำให้เกิดความรวดเร็วเเละรีบเร่งที่ทำให้ไม่ได้บ่มเพาะพวกเขาให้พร้อมต่อการรับมือกับอิสรภาพที่เขาต้องการ เป็นเรื่องที่ท้าทาย เเต่ถ้าพ่อเเม่เข้าใจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้เกิดความเข้าใจเเละเกิดการเรียนรู้ร่วมกับลูก 

เเละการศึกษาที่มีมิติภายในจะเป็นเรื่องจำเป็นในโลกยุคต่อไป

“ผมคิดว่ามุมมองเรื่องการทำความเข้าใจภายในตัวเองผ่านมุมมองที่ไม่ใช่ศาสนา โดยไม่ต้องใช้ภาษาศาสนาสื่อสารประสบการณ์นี้ หลายเรื่องเป็นเรื่องประสบการณ์ตรงหรือจิตวิทยาเพื่อเข้าใจตนเองเเละผู้อื่น ไม่ใช่การไปรู้คนอื่นมากกว่าที่เขารู้ตัวเอง เราเปลี่ยนจากภาษาศาสนาเป็นภาษาการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความสนใจใคร่รู้ การเปิดใจต่อกัน เเละมี presence กับสถานการณ์อะไรก็ตามที่เราเเชร์ร่วมกัน” 

วิจักขณ์เชื่อว่า ภาวะทางจิตหรือมิติความรู้สึกภายในจะมีความสำคัญมากขึ้นในเด็กรุ่นใหม่ เเต่ผู้ปกครองที่รับมือได้โดยไม่ตกใจเเละไม่มองว่าเป็นปัญหาที่ต้องเข้าไปเเก้ไข จะเป็นพลังในการเรียนรู้พร้อมกับลูก

“อยากย้ำว่าเราไม่ได้รู้ดีกว่าลูกเเละไม่ได้รู้ดีกว่าใคร เเต่สิ่งที่จะช่วยเปิดความสัมพันธ์บางอย่างกับลูกหรือคนที่เราเเคร์ คือ presence เเล้วความสัมพันธ์พ่อเเม่กับลูกจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของกันเเละกัน” วิจักขณ์ทิ้งท้าย

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Photographer
Avatar photo
อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts

Related Posts